9/21/2556

มรรคองค์ที่ ๔ สัมมากัมมันโต

ถอดคำบรรยายธรรม เรื่อง มรรค องค์ที่ ๔
อาจารย์ประเสริฐ อุทัยเฉลิม
ธรรมบรรยาย เพื่อความรู้แจ้ง แห่งวิถีทางดับทุกข์
ณ ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย
เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2556

                                                 
                                                             เราสวดกันต่อนะครับ
                                                     
                                                               (องค์มรรคที่ ๔)
                                          กะตะโม จะ ภิกขะเว สัมมากัมมันโต  
                                          ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การทำการงานชอบเป็นอย่างไรเล่า? 
                                          ปาณาติปาตา เวระมะณี 
                                          เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการฆ่า  
                                          อะทินนาทานา เวระมะณี 
                                          เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้แล้ว  
                                          กาเมสุ มิจฉาจารา เวระมะณี
                                          เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากประพฤติผิดในกามทั้งหลาย   
                                          อะยัง วุจจะติ  ภิกขะเว สัมมากัมมันโต 
                                          ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันนี้เรากล่าวว่า การทำการงานชอบ

ทีนี้มาดูมรรคองค์ที่ 4 นะครับ มาได้ครึ่งทางแล้ว
สัมมากัมมันโต เป็นอย่างไรเล่า การทำการงานชอบ
พอพูดแค่นี้ เราก็นึกถึงการทำงาน นึกว่าเป็นอาชีพ ไม่ใช่นะครับ ไม่ใช่
เราจะเห็นข้อที่ 1 ก็คุ้นเคยกันดี ศีลข้อที่1 2 3 อยู่ตรงนี้เอง
ก็คือ การฆ่า การขโมย แล้วก็การประพฤติผิดในกาม
แต่คำนึงที่ผมอยากให้ท่านดู ก็คือคำว่า เจตนาเป็นเครื่องเว้น
เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการฆ่า การเว้นเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ นะครับ
ตรงนี้ไม่ได้บอกว่า ขโมยนะครับ ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ มันละเอียดกว่าขโมย นะครับ
สมมุติว่า ท่านไปบ้านเพื่อน มีขนมตั้งอยู่บนโต๊ะ เพื่อนก็สนิทกัน ท่านก็ถือวิสาสะหยิบขนมขึ้นมากิน
กินไปจนหมด ซักพักนึง ลูกเค้ากลับมาจากโรงเรียน เพื่อนก็บอก
“เอ้า ลูก แม่ซื้อขนมมาฝาก อยู่บนโต๊ะ "
ลูกก็บอก “ไหนแม่ “ ( หัวเราะ ) เกลี้ยงเลย !!
เราก็ทำหน้าเจื่อนๆ บอก อุ้ยตาย ขอโทษทีนะ ชั้นกินไปแล้วเมื่อกี้
เพื่อนก็บอก อ้อ เหรอ ไม่เป็นไรในตู้เย็นยังมีอีกลูกไป
แต่นั่นคือ ทำให้เรารู้สึกเป็นทุกข์แล้ว
เพราะฉะนั้น ตรงนี้จึงเกิดเป็นบัญญัติไว้ในเรื่องของพระต้องรับประเคน
เป็นต้นบัญญัติ ซึ่งไปเดินทางแล้วไปหยิบเอาผลไม้จากต้นมาฉัน
แล้วก็มีชาวสวนที่เค้าปลูกต้นไม้ไว้ เค้าก็ไปทูล เค้าไปฟ้องพระพุทธเจ้าว่า
สาวกของท่านไปขโมยผลไม้ในสวนของเค้า พระพุทธเจ้าจึงต้องบัญญัติเรื่องของการประเคนขึ้นมา
หรือถ้าไม่มีคนมาถวาย หรือว่า มอบให้ ก็ฉันไม่ได้.... จึงเป็นที่มา
เพราะฉะนั้น สำหรับพวกเรา นักปฏิบัติเนี่ย คำว่าขโมยคงจะไม่เกิดขึ้นแล้วล่ะ 
แต่ก็ละเอียดขึ้นไปได้นะครับ ละเอียดขึ้นไปได้
ทีนี้ เรามาดูเจตนาเป็นเครื่องเว้นกันหน่อย
สมมุติว่า ยุงบินมา วี๊ ๆ ๆ ๆ เกาะมั๊บ !! ดูดเลือด ท่านก็ตบ
ฮุ้ย! บอกว่า ไม่เจตนาเลย ( หัวเราะ ) เอ๊...แปลว่าไม่บาปสินะ เออ !ไม่เจตนา
พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้ว่า เจตนาเป็นตัวกรรม ถ้าไม่มีเจตนา ก็ไม่เกิดการกระทำกรรม
เพี๊ยะ ! ไม่เจตนา ก็ไม่บาปสิ... ทีนี้ไล่ตบยุง ไม่มีเจตนา ทำไงก็ก็ไม่บาปล่ะทีนี้
แต่เดี๋ยวก่อน !! ( หัวเราะ ) เดี๋ยวก่อน ๆ ใจเย็นๆ เรากลับมาใหม่ ไม่ต้องปรับปรุงภาพเลย
เอาภาพเดิม ย้อนกลับไปเนี่ย พอ วี๊…….ยุงบินมานะ เริ่มฝึก สังเกตดูที่กายที่ใจเอาใหม่
เสียงยุงที่บินมากระทบ เสียงวี๊….เสียงที่กระทบหูเนี่ย มันทำให้ใจค่อยๆขุ่นมากขึ้นเรื่อยๆ
ขุ่นมากขึ้น ขุ่นมากขึ้น มีความแค้น ความโกรธ ความอาฆาต ความพยาบาท
เดี๋ยวเถอะ เดี๋ยวเถอะไอ้นี่ เดี๋ยวเถอะ !! มันก็ชัดเจนอยู่แล้ว มันเริ่มบีบคั้น บีบคั้น บีบคั้น
จนกระทั่ง พอมันเกาะมั๊บ! ที่มันกำลังบีบคั้นเป็นอาฆาตพยาบาท เป็นโกรธ มันเริ่มสั่งให้กายขยับเลย
ที่ครูบาอาจารย์บอกว่า จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว พอนึกออกมั๊ยครับ
พอขยับปั๊บ ก็สั่งให้สังหารเลย พั๊วะ!! ตกลงเจตนาหรือไม่เจตนาครับ ( หัวเราะ )
เต็มๆ ครับ !! เพราะฉะนั้น ที่บอกว่า โอ๊ย ไม่เจตนาเลยเนี่ย ..เต็มๆ!!
ถ้าไม่เจตนาเนี่ย ไม่ฆ่าแน่
เอาละ เพราะฉะนั้น เรารู้ว่า การฆ่าเนี่ย มีเจตนาแน่
พอเจตนาเป็นเครื่องเว้น เนื่องจากมันมีเจตนาที่จะทำผิด 
เพราะว่ามันเกิดการสั่งสมอย่างยาวนานชั่วสังสารวัฎนี้ มันเกิดเป็นสันดาน
พอมันเกิดสิ่งนี้มา มันก็จะโต้ตอบอย่างรวดเร็วเลย เป็นปฏิกิริยาที่เรียกว่า สัญชาติญาณ
แต่ว่ามันเป็นฝ่ายที่ทำผิด ทำเป็น ทุจริต 3 อยู่เรื่อย ทั้งกาย วาจา ใจ
จากการโต้ตอบในสิ่งที่ทำมา เพราะว่าเป็นอาสวะที่เข้ามามีกิเลสเป็นตัวชักนำ แล้วสั่งสมเป็นอนุสัย
การจะฝืนเพื่อจะออกจากอนุสัยได้ ในเบื้องต้น มันต้องใช้เจตนาเว้นสวนกัน
ในเมื่อจะฆ่า มันก็...ไม่ได้ !! นี่คือ เจตนาเป็นเครื่องเว้น นึกออกไม่ครับ
ที่พระพุทธเจ้าบอกว่า เจตนาเป็นเครื่องเว้น ...อื้อ ไม่เอา ไม่ทำแล้ว
พอกำลังจะขโมย พอหันซ้ายหันขวา คนเคยขี้ขโมยก็หยิบได้ ปั๊บ แต่พอกำลังเอา… ฮึ้บ!!
มันเกิดเจตนาเป็นเครื่องเว้น   ดึงๆไว้ ไม่เอา ไม่เอาของเค้า ไม่ใช่ของเรา เค้าไม่ได้ให้เรา
ก็เริ่มเว้น เว้น เว้น ...พอทำอย่างนี้บ่อยๆ เจตนาเป็นเครื่องเว้นเนี่ย ท่านจะเห็นว่า
ดีกรีของการที่ต้องมีเจตนาเป็นเครื่องเว้นเนี่ย มันต้องลดลงเรื่อยๆ
ก็แสดงว่า ดีกรีที่มันจะเอา ที่เจตนาจะเอาของเค้า มันก็ลดลงเหมือนกัน
จนกระทั่งฝึกไปฝึกมา มีคนนึงเดินฝ่านแล้วทำเงินหล่น เงินเค้าหล่นปั๊บ
ผู้ชายคนนั้นที่กำลังฝึกเจตนาเป็นเครื่องเว้นมาแล้ว 3-4 เดือน เก็บตังค์แล้วก็วิ่งตาม
คุณ คุณ ! ตังค์คุณหล่น 500 ก็เอาไปมอบให้ หลังจากนั้นผู้หญิงคนนั้นก็ขอบคุณแล้วก็เดินไป
คนขี้ขโมยคนนั้น กลับมาก็มานั่งทำงานต่อ เพื่อนที่รู้ว่าเป็นคนขี้ขโมย หรือว่าก็เป็นคนขี้ขโมยด้วยกันสมัยก่อน
ก็ถามว่า ทำไมไม่เอาของเค้าซะเลยล่ะ
“เอาไปทำไม .. ไม่ใช่ของเรา “
“ อ๋อ เดี๋ยวนี้ถือศีลเหรอ “ ฮา….
“ศีล ? “ ทำท่าเหมือนจะค่อยๆทบทวน เค้าบอก “ ฮึ..ไม่ได้ถือศีล ”  
“ อ้าว แล้วทำไมไม่เอา ซะเลยอ้ะ ”
“ก็ไม่ใช่ของเรา “
เอาล่ะ ! ผมหยุดไว้แค่นี้ ผมถามหน่อย ตอนที่เงินหล่น ผู้ชายคนนั้นหยิบเงิน แล้วก็เอาไปส่งคืน
เรื่องจบแค่นี้ แล้วก็กลับมาทำงานต่อ
ตอนที่ของหล่น แล้วเค้า ก้ม ลง ไป เก็บ เค้าอยากขโมยมั๊ยครับ ….ไม่ได้อยาก ! 
เค้าเอาไปคืน แล้วกลับมา เพื่อนถามว่า ถือศีลเหรอ?
เค้าบอก ไม่ได้ถือ / อ้าวแล้วทำไมไม่เอา/ ก็ไม่ใช่ของเรา
ผมถามย้อนกลับมาอีกทีว่าเค้ามีเจตนาเป็นเครื่องเว้นมั๊ยครับ … ไม่มี
เพราะเค้าไม่มีเจตนาจะขโมยหรือจะเอาของที่ไม่ใช่ของเค้า
เค้าหมดเจตนาเป็นเครื่องเว้นแล้ว ถูกมั๊ยครับ
ในแง่ของจิต จิตไม่มีเจตนาจะเอาแล้วถูกมั๊ยครับ?
ผู้ชายคนนั้น เป็นผู้มีศีลบริบูรณ์แล้ว ถูกมั๊ยครับ
ในมุมของจิต ผมบอกว่า ผู้ชายคนนั้น ไม่มีศีลแล้ว ถูกมั๊ยครับ?
เผลอยังไง เค้าก็ไม่เอาของใครอีกแล้ว ถูกมั๊ยครับ?
ถ้าเข้าใจตรงนี้ ในศีลทุกข้อ ๆ ๆ ๆ ทั้ง 5 ข้อ แล้วมีใครก็ตามฝึกที่เจตนาเป็นเครื่องเว้น
จนหมดเจตนาเป็นเครื่องเว้นทั้ง 5 ข้อเนี่ย จิตของเค้าจะลอยอยู่เหนือศีล 
เพราะถูกชำระด้วยปัญญา แล้วศีลก็จะทำให้เกิดความแข็งแกร่งขึ้นของจิตด้วย
ถ้าวันใดมันเกิดเหตุการณ์อย่างงั้น ผมจะบอกว่าผู้ชายคนนี้ ...
ดูเหมือนแล้วกัน ดูเหมือนไม่มีศีลแล้วถูกมั๊ยครับ
แต่ว่า ความทุกข์ในใจไม่ได้หมดไป แต่ความเดือดเนื้อร้อนใจที่เกิดจากเรื่องหยาบๆ จะหายไป
เพราะว่าในศีลทั้ง 5 ข้อ ที่มีความเป็นปกติ คือพ้นจากเจตนาเป็นเครื่องเว้น
จะทำให้คนๆนั้นมีความสุขในระดับนึงแล้ว
แต่มันยังเหลือความทุกข์ในระดับละเอียดที่ยังจัดการกันไม่ได้เท่านั้นเอง
ผมถึงบอกว่า ในการบรรยายครั้งแรก ถึงบอกว่า ต่อให้มีศีลบริบูรณ์ก็ตาม ( ไม่ได้บอกว่า มีศีลไม่ดีนะ )
ถึงจะมีศีลบริบูรณ์ก็ตาม ความทุกข์ยังไม่หมด เพราะระดับของใจ ปัญหาอุปาทานยังไม่ถูกชำระนะครับ
ยังไม่ถูกชำระ ยังไม่ถูกเข้าไปจัดการ มันไปจัดการหยาบๆเท่านั้นเอง
อย่างที่เค้าเรียกว่า อวิปปฎิสาร ความไม่สบายใจทั้งหลายที่บีบคั้นเนี่ย มันจะหายไป
เอาล่ะ เพราะฉะนั้น เราเข้าใจตรงนี้ แล้วมันจะไปต่อได้ง่ายนะครับ
มาถึง
 มรรคองค์ที่ 5  ต่อนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น