2/18/2557

พังประตูคุก ตอนที่ 4 สันทิฏฐิกนิพพาน นิพพานชิมลอง

ถอดคำบรรยาย:
คอร์ส “มัคคานุคาเข้มระดับ 2” เรื่อง พังประตูคุก
ตอนที่ 4 “สันทิฏฐิกนิพพาน นิพพานชิมลอง”

บรรยายโดย อาจารย์ประเสริฐ อุทัยเฉลิม
ระหว่างวันที่ 25 – 29 มิถุนายน 2556
สวนธรรมศรีปทุม



ก็เข้าสู่ช่วงของการฟังธรรม ก็อนุโมทนากับผู้ปฏิบัติทุกท่าน

วันนี้ก็เป็นช่วงบ่ายของวันที่ 2 ของการปฏิบัติน่ะ คือวันที่ 26 มิถุนายน 2556

สถานที่ก็คือ สวนธรรมศรีปทุม ปทุมธานี

เข้าสู่วันที่ 2 นะ เราก็ค่อยๆ เคยคุ้นกับความสงบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

จากอุปมาเด็กขี่จักรยาน เราโลดแล่นกันอยู่ข้างนอก ก็เหมือนเด็กขี่จักรยาน

มีสื่อต่างๆ เยอะแยะมากมายที่เข้ามากระทบ มีผัสสะเข้ามากระทบ 

ทำให้ใจของเราเคลื่อนไหวตลอดเวลาไม่ว่าจะ ทีวี ข่าว อินเตอร์เน็ต เยอะแยะ 

โทรศัพท์มือถือ ข่าวสารพุ่งเข้ามาเราไม่ได้หยุด นะ

การกระทบพุ่งเข้ามาหาเราไม่ได้หยุด ทั้งชอบใจ ไม่ชอบใจ ในใจของเราก็เกิดขึ้นตลอดเวลา

การที่เรามาอยู่ 2 วัน แล้วก็ได้สัมผัสกับความสงบที่ไม่มีอะไรมากระทบ

แต่ในความสงบที่เกิดขึ้นเหมือนๆ กัน แต่ในคน 2 แบบ

แบบแรกก็รู้สึก เบื่อ อยากจะกลับออกไปหาของที่ชอบใจ 

ก็เพราะว่าเค้าไปยึดติดเสพติดกับการขี่จักรยาน เมื่อเข้ามานั่งอยู่ในบ้านเฉยๆ ก็จึงรู้สึกเบื่อ 

แต่คนอีกคนนึงเข้ามานั่งอยู่เฉยๆ ตรงนี้ ความจริงก็ไม่ได้เฉยหรอก 

ยังทำกรรมฐานอยู่ภายใน กลับรู้สึกสงบเย็น แล้วก็ โอ้! นี่แหล่ะ คือสิ่งที่ฉันหามานาน

ในคน 2 คนนี้ สัมผัสความสงบเหมือนกัน แต่ได้มุมมองที่ต่างกัน 

คนนึงติดข้างนอกอยากออกไปโลดแล่น

คนนึงเข้ามาสัมผัสข้างในด้วยความสงบ

ถึงแม้จะเป็นความสงบชั่วคราวก็ตาม

                              

[เสียงจากคลิป]

นิพพานที่เห็นได้เอง ตามคำของพระอานนท์
"อาวุโส! มีคำกล่าวกันอยู่ว่า 'สันทิฏฐิกนิพพาน สันทิฏฐิกนิพพาน' ดังนี้.
อาวุโส! สันทิฏฐิกนิพพานนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ ด้วยเหตุมีประมาณเท่าไรหนอแล ?"
(พระอุทายีถามพระอานนท์, พระอานนท์เป็นผู้ตอบ).
[หยุดเสียงจากคลิป]

น่ะ คำถามนี้ เราอาจจะได้ยินแล้วแปลกกว่าทุกๆ

พุทธพจน์ที่เราฟังก็คือ บทนี้มาจากปากของพระอานนท์ล้วนๆ เลย

“อาวุโส” ก็คือคำเรียกของภิกษุในสมัยพุทธกาลนะครับ เป็นคำเรียก

พระเรียกกันเนี่ย เรียกก็...“อาวุโส” ก็เรียก “อาวุโส” คือการให้เกียรติซึ่งกันและกัน

ต่างฝ่ายก็ต่างเรียก “อาวุโส”

แต่ถ้าหากมีพระรูปนึงที่มีอายุมากหรือเป็นอาจารย์ก็จะเปลี่ยนเป็นคำว่า “ภันเต”

“ภันเต” ก็จะเรียกพระที่รุ่นน้องลงไปว่า “อาวุโส” นะ   อันนี้เป็นคำเรียก

เราอาจจะ...เอ๊! อะไร อาวุโส? หรือเราจะได้ยินว่า “ท่านผู้มีอายุ” อันนี้เป็นคำที่ใช้เรียกกัน

ทีนี้พระอุทายีก็ถามพระอานนท์ว่า

พระผู้มีพระภาคฯ เคยพูดอะไรไว้เกี่ยวกับเรื่องของนิพพานชั่วคราวหรือนิพพานชิมลอง?

[เสียงจากคลิป]
"อาวุโส! ภิกษุในกรณีนี้ สงัดแล้วจากกาม สงัดแล้วจากอกุศลธรรมเข้าถึง ปฐมฌาน อันมีวิตกวิจาร มีปีติและสุข อันเกิดจากวิเวก แล้วแลอยู่
อาวุโส! สันทิฏฐิกนิพพาน อันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล เมื่อกล่าว โดยปริยาย."
(ผู้ศึกษาพึงสังเกตให้เห็นว่า คำว่า "สันทิฏฐิกนิพพาน" ในที่นี่ ต้องหมายถึงความสุขอันเป็นผลจากปฐมฌานที่บุคคลนั้นรู้สึกเสวยอยู่ นั่นเอง, เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า ความสุขอันเกิดจากเนกขัมมะ โดยเฉพาะคือฌานทุกระดับ มีชื่อเรียกว่านิพพานได้, ไม่จำเป็นจะต้องหมายถึงอนุปาทิเสสนิพพานอย่างเดียวเท่านั้น. จะยุติเป็นอย่างไร ขอให้นักศึกษาพิจารณาดูเอาเองเถิด. )
[หยุดเสียงจากคลิป]

ข้อความนี้ ( สีน้ำเงิน ) เขียนต่อโดนท่านพุทธทาสนะที่ท่านได้ยินเมื่อสักครู่

สันทิฏฐิกนิพพาน เมื่อกี้พระอานนท์พูดถึง

ตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไป สงัดแล้วจากกาม สงัดแล้วจากธรรมอันเป็นอกุศล

เข้าถึงปฐมฌานอันมีวิตกวิจาร มีปีติและสุข อันเกิดจากวิเวก

แสดงว่าในฌานทุกฌานไม่มีกาม ไม่มีตัณหา

ใจจึงเข้าสู่ความเป็นปกติที่พระพุทธเจ้าเรียกว่า “นิพพาน”

ในพระสูตรจะบอกไว้เลยว่า หรือในอริยสัจจ์ ทุกข์ สมุทัย

สมุทัยคือตัณหา ถ้าขณะใดก็ตามที่จิตไม่มีตัณหาเข้าไปปน

ความบีบคั้นบีบร้อนที่ไม่มีในจิต ขณะนั้นจะเกิดเป็นความสงบเย็น ถึงแม้จะชั่วคราวก็ตาม

ตรงนี้พระอานนท์จึงนำมาเล่า แล้วนำมาบอกกับภิกษุที่ปฏิบัติว่า...

พระผู้มีพระภาคฯ พูดถึงปฐมฌานขึ้นไปว่า เป็นนิพพานชั่วคราว

ดังนั้นใครที่ปฏิบัติแล้วรู้สึกว่า เวลาเรานั่งสมาธิมันก็เหมือนกับการกดข่ม

ผมว่าท่านเปลี่ยนมุมมองใหม่ดีกว่า เป็นมุมมองตามพระศาสดา

ขณะที่ท่านเริ่มเข้าสมาธิได้ตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไป ความสงบพอสมควร

ไม่มีตัณหา ไม่มีกามเข้าไปปน ท่านจะนั่งแล้วสังเกตเห็นเลยว่า ไม่มีความบีบคั้น

แต่ถ้าท่านยังบีบคั้นอยู่ท่านยังไม่เข้าถึงปฐมฌาน

ยังรู้สึกเบื่อ ยังรู้สึกติดขัดกับเวลา... โอ้ย! นี่มันกี่โมงแล้ววะ นี่มันกี่นาทีกันแล้ว อีกตั้งกี่นาที ...

พวกนี้ยัง ยังไม่สงัดจากกาม ยังไม่สงัดจากธรรมอันเป็นอกุศล ยังมีอกุศลปนอยู่

แต่เมื่อไหร่มันเจอสมดุลแล้วมันปล่อยพรึบ แล้วค่อยๆ นั่งแล้วตัวเริ่มเบา

เข้าไปดำริตริตรึกอยู่กับลมหายใจโดยส่วนเดียว

แล้วก็เริ่มเบา รู้สึกโปร่งโล่งเบาสบาย ขณะนั้นค่อยๆ เดินเข้าสู่ปฐมฌาน

ตอนนั้นไม่มีกามและก็ไม่มีตัณหา ความสุขสงบจะเกิดขึ้น

เราควรจะสังเกตตรงนี้มากกว่าว่า โอ! สุขในฌานทั้งหลายเนี่ย มันไม่มีตัณหาบีบคั้น

มันเป็นความสุขสงบ ซึ่งปราศจากตัณหาที่เป็นเครื่องบีบ นี่แหล่ะคือสาระสำคัญ

เวลามอง มองในมุมที่ถูกต้อง นะ อย่างไปมองในเรื่องกดข่ม

แต่มองว่า ลักษณะอย่างนี้ความโปร่งเบา โปร่งเบาอย่างนี้นะ ที่ไม่มีตัณหาเข้าประกอบ

จากนั้นในฌานตั้งแต่ 2, 3, 4 และอีกอย่างนึงที่พระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ก็คือ

ถ้าใครอ่านใน... การละอาสวะนานาแบบ จะมีความสุข...อ๋อไม่ใช่แล้ว

 “สุขที่ควรกลัว” และ “สุขที่ไม่ควรกลัว”

“สุขที่ควรกลัว” พระพุทธเจ้าตรัสว่า... “กามสุข”

เราไปซื้อข้าวซื้อของ ซื้อกระเป๋า ซื้อรองเท้า บอกว่าอันนี้มีความสุข...

อันนั้นเนี่ย “สุขที่ควรกลัว” สุขพวกนี้เป็นสุขที่วูบวาบ

แล้วก็เป็นของปรุงแต่งขึ้นมาแบบหยาบๆ จากความไม่รู้ แล้วก็นำมาซึ่งทุกข์ในอนาคต

แต่ “สุขที่ไม่ควรกลัว” ท่านบอกว่าคือ สุขจากฌานทั้งหลาย สุขในฌานคือสุขที่ไม่ควรกลัว

หลายคนที่บอกว่า อุ้ย! ระวังติดสมถะนะ... ทำไมถึงต้องให้นั่งสมาธิ?

ทำไมถึงเข้าฌานแล้วมันจะดีรู้มั้ย? เพราะจิตถึงเปลี่ยนทางจากอกุศลมาอยู่กับกุศล

พระพุทธเจ้าตรัสว่า จิตนี่เหมือนลิง

ถ้าจะให้ลิงปล่อยกิ่งไม้กิ่งนึง ลิงจะต้องมีกิ่งไม้กิ่งใหม่เพื่อที่จะจับ

ลิงจะไม่ยอมปล่อยกิ่งไม้กิ่งเดิมถ้าไม่มีกิ่งไม้กิ่งใหม่ให้จับ

ดังนั้นจะให้ลิงปล่อยอกุศล ต้องเอากุศลมาล่อ

จิตเป็นธรรมชาติที่ไม่ได้มีตัวตน มาจากการฝึกแล้วก็ให้เค้าเข้าไปสัมผัส

เมื่อจิตเข้ามาสัมผัสกับความสงบ

เหมือนที่ผมยกตัวอย่างว่าเด็กขี่จักรยานแล้วเข้ามาอยู่ในบ้าน

แรกๆ อยู่ไม่ไหว ไม่ชอบ แต่อยู่ไป อยู่ไป มันชัก เอ้อ! สบายดี

อยู่ไป อยู่ไป มันเริมชิน อยู่ไป อยู่ไป มันเริมเคยคุ้น ทีนี้ก็สบายเลย

เอ๊ะ! มีความสุขกว่าออกไปขี่จักรยานทั้งร้อนทั้งเหนื่อย แต่อยู่อย่างนี้ โอ้! สุขสงบจริงๆ

เราพูดถึงจิตนะ ไม่ได้พูดถึงการทำงานนะ ถ้าการทำงาน...หาว่ามานั่งสมาธิแล้วขึ้เกียจ...ไม่ใช่

จิตต่างหากล่ะที่สนใจความสงบ

หลังจากนั้น จิตที่เข้าสัมผัสกับความสงบ

จะมีพลังในการทำงานแบบไม่มีประมาณ  เพราะไม่มีแรงเสียดทาน

ทุกวันนี้เราทำงานได้นิดๆ หน่อยๆ เหนื่อยจะตายแล้ว

เพราะมันเสียดทานอยู่ข้างใน ทำไอ้นั่น เดี๋ยวก็โมโห คนนั้น เดี๋ยวก็โมโหคนนี้ หงุดหงิดคนโน้น

แรงเสียดทานมันเยอะเหมือนกับ เหมือนกับอะไรอ่ะ...ถูไปบนกระดาษทรายอ่ะ

มันฝืดไปหมดนะ กระดาษทราย...ถูไปถูไป โอ้โหมันฝืด

แต่พอเปลี่ยนกระดาษทรายเป็นน้ำมันเครื่องลื่นๆ บนกระจกเนี้ยะ

ปรู๊ดดดดไปได้ไม่มีประมาณ แรงเสียดทานมันลดลง

เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดสภาพอย่างนี้เนี่ย การทำงานก็จะดีขึ้น

จิตก็ได้สัมผัสความสงบเย็นมากขึ้น เหมือนเด็กเข้ามาสัมผัสความเย็นสบายในบ้านมากขึ้น

สุขที่ไม่ควรกลัว สุขในสมาธิ ทำให้มากแล้วเดี๋ยวจิตจะเปลี่ยนทาง

เมื่อเช้าเราดูเรื่อง... จูบลิง ...เราจะเห็นว่า การหยุดการปรุงแต่งคือสภาพแบบนี้

การปรุงแต่งคือสภาพของ คนนั้นไปจูบ แล้วก็จินตนาการถึงนายแบบ

แสดงว่าไอ้สิ่งที่จินตนาการไว้เนี่ย  ไม่ได้มีตัวตนเลย

เป็นอะไรก็ไม่รู้ เราก็เห็นๆ อยู่ เรานั่งดูอยู่เราก็เห็น

ถ้าผมไม่ชี้   ท่านก็ไม่เห็น ก็กลายเป็น คลิปนี้ตลกดีสนุก มันจบไปแค่นั้นเอง

นี่คือสิ่งที่ฉาบหน้าทุกคนในโลก 7 พันล้านคน คนเห็นอยู่อย่างเดียวกัน

แต่เชื่อมั้ยว่าคลิปนี้เปิดที่ไหนก็มีเสียงหัวเราะ  แล้วก็สนุกตลกไปกับคลิป

แต่ไม่มีใครได้ธรรมะจากมันเลย แล้วเป็นธรรมะชั้นลึกด้วย

ทำไมเราจึงไม่เห็น ทั้งๆ ที่เราก็เห็นอยู่เนี่ย ตรงนี้แหล่ะ

เมื่อไหร่ก็ตามที่เราจัดการกับตรงนี้ได้ แล้วมันไม่ไหลไปกับเรื่องราว

แล้วมันมีมุมมองที่ถูกต้อง ...เราก็จะเห็นความจริงตามความเป็นจริง

เราได้ยินคำนี้กันมานานนานๆ เวลาที่เราเข้ามาปฏิบัติ

มาฝึกปฏิบัติทำไม?...

ปฏิบัติเพื่อให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง ฟังแล้วมันฟังไม่รู้เรื่อง

เราลองดูคลิปเมื่อเช้า ความจริงตามความเป็นจริงคืออะไร?

สัมผัส (นิ้วมือแปะที่ริมฝีปาก) เนี่ย...ความจริงตามความเป็นจริง

แล้วสิ่งที่ควรจะเกิดตามความจริงคือ...แล้วทำไมต้องมีอารมณ์ ของมันมีแค่นี้ (นิ้วมือแปะที่ริมฝีปาก)

ที่เหลือคือการปรุงขึ้นมาเองทั้งหมด เกิดเป็นสุขเป็นทุกข์ เป็นทุกข์ เป็นทุกข์ เป็นสุข เป็นทุกข์

แล้วก็โยงใย สายใยก็โยงมาถึงจนวันนี้

สร้างทุกอย่างทั้งภพของเทวดา ทั้งภพของนรก

ก็สร้างกันมาเรื่อยเปื่อย กับของที่ไร้สาระจริงๆ เลย

เราเริ่มกลับเข้ามาสัมผัสกับสันทิฏฐิกนิพพาน

ถึงแม้จะเป็นนิพพานชิมลองช่วงเวลาสั้นๆ

ให้เราสังเกตว่าขณะที่กำลังเกิดสมาธิ จิตไม่มีตัณหา

เมื่อจิตไม่มีตัณหา จิตจึงสงบเย็น

วันไหนที่มันมีตัณหา เราก็จะรู้เลย

โอ้โห! ร้อนนะ มันบีบคั้น มันร้อนอย่างนี้นี่เอง

พอมันไม่มีตัณหา โอ้! มันเย็น

จิตมันมีทางเลือก เมื่อก่อนมันไม่มีทางเลือก

เด็กมันไม่รู้ว่า ในบ้านสบาย มันก็ขี่แต่จักรยาน อย่างเก่งมันก็นั่งพักร่มไม้ข้างทาง

แต่เดี๋ยวนี้มันได้ที่พักใหม่เป็นวิหารธรรม มีอานาปานสติ เป็นวิหารธรรม

เอาล่ะ เรามาดู “นิโรธ” ที่พระพุทธเจ้าตรัส เมื่อกี้เราพูดถึงสันทิฏฐิกนิพพาน

ดูสิว่า “นิโรธ” ท่านจะตรัสไปในทางเดียวกันมั้ย

“นิโรธ 5” ข้อที่ 1 “วิขัมภนนิโรธ” ดับด้วยการข่มไว้


คือการดับกิเลสของผู้บำเพ็ญฌาน เห็นมั้ย... กลับมาที่เดิม เหมือนสันทิฏฐิกนิพพานเลย

ตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไป ปราศจากกามและอกุศลเหมือนกัน

เพราะฉะนั้นนิวรณ์ไม่มี ได้ตลอดเวลาที่อยู่ในฌานนั้น

เพราะฉะนั้นเวลาเรามานั่งสมาธิ...

กามไม่มี อกุศลไม่มี ใจก็โปร่งโล่งเบาสบาย ให้เห็นตรงนี้เลย

เมื่อไหร่มีกาม เมื่อไหร่มีอกุศล เมื่อนั้นก็กลับไปเร่าร้อนเหมือนเดิม

เมื่อไหร่มีกาม เมื่อนั้นมีตัณหา ก็กลับไปเร่าร้อนเหมือนเดิม

แต่พอไม่มี ถึงแม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ผู้มีปัญญาสามารถนำสิ่งนี้มาเป็นเป็นเครื่องเทียบได้

จากนั้นเมื่อระดับของการปฏิบัติเพิ่มสูงขึ้น

เริ่มเห็นความจริงขึ้นบ้าง

เริ่มเข้าสู่การปฏิบัติ เกิด “ตทังคนิโรธ”

ดับด้วยองค์นั้นๆ คือ ดับกิเลสที่เป็นคู่ปรับหรือธรรมที่เป็นตรงข้าม

เช่น ดับสักกายทิฏฐิด้วยความรู้สิ่งที่แยกรูปแยกนามออก เป็นการดับชั่วคราวในกรณีนั้นๆ

เมื่อปฏิบัติไป ปฏิบัติไป ผมจะยกตัวอย่างให้...

สมมติว่านั่งๆ มีคนลืมปิดโทรศัพท์ มันกรี๊งขึ้นมา

โดยธรรมชาติของสัญชาตญาณก็จะ...เกิดความไม่พอใจขึ้นทันทีที่ได้ยินเสียง

ยิ่งกรี๊งนานเข้า นานเข้า ก็ยิ่งเกิดความขุ่นไม่พอใจมากขึ้นไปอีก

อันนี้คือธรรมชาติที่เป็นสัญชาตญาณในการเกิดอกุศลของคน

แต่หากเราเป็นนักปฏิบัติ ข้อที่ 2 นี่จะเกิด คือตอนไหน?...

ขณะที่พอเสียงกระทบ กรี๊ง กรี๊งกระทบหูปั้ง...ผัสสะทางหูกระทบ

เกิดความรู้สึกไม่พอใจกระเด้งขึ้นมาเลย

แต่ครั้งนี้สติเข้าไปเห็นการกระทบของรูป

การเคลื่อนไหวของนามธรรม แล้วก็บีบคั้นเป็นทุกข์ จากการมีโทสะเข้าไปปน

อย่างนี้ไม่ใช่แบบเมื่อกี้ละ แบบเมื่อกี้คือ...กูโกรธ

แต่แบบนี้เห็นสภาพของรูปนามที่กระทบ รูปกระทบ นามสั่นไหว เข้าใจรูปเข้าใจนาม

เกิดเป็นข้อที่ 2 ดับได้ชั่วคราว เห็นความจริงในขณะนั้น เกิดการดับ วับ!

ความยึดถือในความเป็นรูปนามดับลงไปชั่วขณะ

หลายคนที่ปฏิบัติก็เริ่มพบสภาพธรรมแบบนี้ นี้คือนิโรธชั่วคราวที่เกิดขึ้นมาในระดับที่ 2

ในระดับที่ 3 “สมุจเฉทนิโรธ”  ดับด้วยเด็ดขาด

คือดับกิเลสเสร็จสิ้นเด็ดขาดด้วยโลกุตตรมรรคในขณะแห่งมรรคนั้น

อันนี้จะเริ่มเข้าสู่ความเป็นโสดาบัน

จากการที่ผ่านตทังคนิโรธมาบ่อยๆ บ่อยๆ บ่อยๆ จิตเริ่มเข้าใจ

เริ่มเห็นนิโรธมากขึ้น เริ่มเข้าใจนิโรธมากขึ้น เริ่มเอนมาทางนิโรธ

เมื่อเกิดอะไรขึ้นก็กลับเข้าสู่นิโรธ กลับเข้าสู่นิโรธมากขึ้นเรื่อยๆ

จนกระทั่งเข้าไปเคยคุ้นกับสภาพนี้แทน

แล้วก็คุ้นจนกระทั่งเพียงพอที่จะสลัดความเห็นผิดหรือสักกายทิฏฐิลงได้

ว่านี่ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา

เราเข้าใจผิดแล้ว เราถึงได้ทุกข์แบบนี้ แล้วมันก็สลัด พลั๊วะ!

เข้าสู่การเป็นโสดาบัน อันนี้ด้วยโลกุตตรมรรคละ

จากนั้นพอถึงขั้นที่ 4

ก็อยู่ระหว่างการปฏิบัติตั้งแต่โสดาบันขึ้นไปจนก่อนเข้าถึงความเป็นพระอรหันต์

พอถึงขั้นที่ 5 “นิสสรณนิโรธ” ดับด้วยการสลัดออก

เนื่องจากเห็นนิโรธมาเป็นเวลายาวนานนะ อยู่กับนิพพานชั่วคราวมาอย่างยาวนานนะ

ในอริยบุคคลตั้งแต่โสดาบันขึ้นไปจนถึงพระอนาคามีเนี่ย

ที่เรียกว่าดับ พอดับแล้วก็ว่าง ว่างแล้วสงบ สงบแล้วก็สลัดคืน

ไม่เอาด้วยแล้ว เห็นหมดแล้วมันเช่นนั้นเอง

ช่วงนี้จะสงบ สงบ สงบ สงบ จิตใจจะไม่ขยับเคลื่อนไหว สงบ

ติดอยู่ในความสงบ เข้าไปถึงความสงบ อะไรกระทบก็ไม่มีทางเลยมันเหมือนอยู่ไกลๆ

มันเหมือนมีกองไฟ ก็อยู่ไกลๆ อยู่นอกบ้าน อยู่นอกรั้วบ้าน ไม่เข้ามาข้างใน

จนกระทั่งสลัดคืน แล้วก็หลุดพ้นที่แท้จริง เข้าสู่วิมุตติ นะ อันนี้ก็นิพพานเลย

เพราะฉะนั้นนิโรธ 5 ระดับที่พระองค์ตรัสไว้เราจะดึงเข้ามาสนใจคือระดับที่ 1, 2 ก่อนนะ

ระดับที่ 3 พอถึงเหตุปัจจัยถึงพร้อมก็คงเกิดไปเอง

เพราะฉะนั้น สันทิฏฐิกนิพพาน นิพพานชิมลองอย่างที่ท่านนั่งสมาธิอยู่นะ ก็คือระดับที่ 1

ให้สังเกตให้เห็นว่าขณะนั้น ใจของท่านสงบ เพราะไม่มีกาม ไม่มีอกุศล

และท่านจะเข้าใจธรรมต่อๆ ไป ไม่มีตัณหาบีบคั้น

ที่นี้เมื่อพูดถึงพระอานนท์ เราลองฟังพระอานนท์ดู

เมื่อเช้าเราพูดถึงแรงเงา แล้วเราก็ยกตัวอย่างถึงพระอานนท์ตอนที่ท่านบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์

เราลองมาฟังว่า หลังจากท่านเข้าถึงธรรมแล้วเนี่ย ท่านพูดอะไรไว้บ้าง



[เสียงจากคลิป]
พระพุทธอนุชาประสบปีติปราโมชอย่างใหญ่หลวง ความรู้สึกปรากฏแก่ใจท่านว่า ความเกิดสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นที่จะต้องทำในทำนองเดียวกันนี้ไม่มีอีกแล้ว บัดนี้ภพใหม่ไม่มีอีกต่อไป ภพทั้งสามคือ กามภพ รูปภพ และอรูปภพ ปรากฏแก่ท่านผู้บรรลุแล้วซึ่งอริยภูมิ ประหนึ่งมีเพลิงโหมอยู่ทั่ว ได้ย่ำยีความเมาทั้งปวงแล้ว ได้นำความกระหายทั้งมวลออกไปแล้ว ได้ถอนอาลัยในกามคุณอันเป็นที่อาลัยยินดีอย่างยิ่งของมวลสัตว์ได้แล้ว ตัดวัฏฏะอันทำให้หมุนเวียนมาเป็นเวลานานได้แล้ว...
[หยุดเสียงจากคลิป]

ผมขออนุญาตตรงนี้เลยดีกว่า เพราะไม่งั้นเดี๋ยวพอผ่านแล้วก็ไม่รู้จะอธิบายยังไง

ท่านบอกว่า ภพทั้งหลายหมดสิ้นแล้ว ทุกอย่างจบหมดแล้ว

นึกภาพได้มั้ยว่า คนจูบลิงเนี่ย สร้างอะไรขึ้นมา

สร้างความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ขึ้นมาเอง

สร้างภพขึ้นมาเอง จากวิญญาณที่ไม่รู้

ในพระอรหันต์สิ่งเหล่านี้หมดแล้ว เหลือสัมผัส (นิ้วมือแปะที่ริมฝีปาก, มือขวาจับที่แขนซ้าย)

ตามความเป็นจริง ไม่มีการก่อความยินดียินร้ายขึ้นมาอีก ทุกอย่างจบ... แค่นี้เองนะ

เราเดินทางกันทั้งหมดเพียงเพื่อเท่านี้ล่ะ ฟังง่ายนะ

เมื่อเช้าลงไปเห็นอะไรน่ากินก็พรึบขึ้นมาละ อะไรไม่น่ากินก็ปฏิฆะขึ้นมาละ ก็สร้างภพต่อไป

[เสียงจากคลิป]
ตัณหาความดิ้นรนร่านใจให้หมดสิ้นไปแล้ว
[หยุดเสียงจากคลิป]

ถ้าไม่มีตรงนี้ (มือขวาจับที่แขนซ้าย) สัมผัสจะกลายเป็น...จบตรงนั้นเลย

เพราะฉะนั้นการสร้างภพใหม่ต่อไปไม่มีอีก ดูเหมือนไม่น่ายากเลยนะ นี่ชี้กันแบบ

[เสียงจากคลิป]
คลายความกำหนัดได้แล้ว ดับเพลิงกิเลสและเพลิงทุกข์ทั้งปวงได้แล้ว ถึงแล้วซึ่งความเยือกเย็นอย่างยิ่ง ดวงจิตซึ่งเคยเร่าร้อนดิ้นรน บัดนี้ได้อาบแล้วซึ่งธัมโมทกอย่างเต็มที่ ประหนึ่งหิมะละลายลงสู่ศิลาแท่งทึบ ซึ่งเคยถูกแดดเผามาเป็นเวลานาน โอ้! ภาวะแห่งผู้ปลดเปลื้องตนจากกิเลสเสียได้เป็นอย่างนี้เอง ช่างประสบกับภาวะสงบเย็นอย่างเต็มที่เสียนี่กระไร! สงบเหมือนน้ำในแอ่งน้อยซึ่งอยู่ในป่าลึก สดใสเหมือนหยาดน้ำค้างเมื่อรุ่งอรุณ อบอุ่นประดุจแสงแดดเมื่อยามเช้า
[หยุดเสียงจากคลิป]

เดี๋ยวผมขออนุญาตนะ ผมขออนุญาต...

น่าแปลกนะตอนที่เราสัมผัสอยู่เฉยๆ (มือขวาจับที่แขนซ้าย) เนี่ย

กับเทียบกับที่ผู้หญิงที่จูบนายแบบในความฝันเนี่ย

ให้เอาผู้หญิงที่จูบนายแบบในความฝันที่กำลังเคลิ้มมาสัมผัสแค่นี้เนี่ย (มือขวาจับที่แขนซ้าย)

เค้าไม่เอาด้วยหรอก

อะไรเนี่ย เนี่ยหรอที่แสวงหา ? แล้วบอกว่าเป็นสุขอย่างยิ่งอ่ะ ที่ไม่มีการปรุงแต่งน่ะ

แต่วันไหนที่เข้ามาสัมผัสสิ่งนี้จริงๆ โดยไม่ต้องกระชากเคลื่อนไหวแบบร้อนแรงแบบ

แบบนั้นน่ะ ถึงพบความสุขสงบเย็นที่แท้จริง

ใครยังไม่รู้สึกว่าความสุขสงบเย็นในสมาธิดีกว่าความสุขที่ได้กระเป๋าหลุยส์ วิตตอง เนี่ย

ก็คงต้องค่อยๆ ทำความเคยคุ้นต่อไปอีกเรื่อยๆ เลยล่ะ

จนกระทั่งวันนึงมันคุ้นแล้วมันจะเห็นเลยว่า

สุขพวกนั้นมันร้อนมากเลยล่ะ แต่ตรงนี้สงบเย็นเหลือเกิน

จนกระทั่งวันนึงที่ถึงตรงที่พระอานนท์พูดจริงๆ

สังเกตทุกคำพูดของพระอานนท์คือมันดื่มด่ำแบบไม่มีสุขที่ไหนจะเท่าพระนิพพานอีกแล้ว

ถึงหมดข้อสงสัยที่พระศาสดาทำไมถึงอย่างเนี้ยะ

วันนี้ตรงนี้มันยังเป็นภาพตัวอย่าง

มันเป็นของตัวอย่างที่พอจะทำให้เราไปเทียบเคียงการไม่ปรุงแต่ง

แต่มันยังเข้าไปไม่ถึงหรอกนะ

[เสียงจากคลิป]
อะไรเล่าจะน่าปรารถนาของชีวิตยิ่งไปกว่านี้ นี่เองที่พระศาสดาตรัสอยู่เสมอว่า "พระนิพพานซึ่งสงบเย็นอย่างยิ่ง" การสำรอกตัณหา โดยไม่เหลือเชื้อ การสละและการบอกคืนตัณหา การพ้นไปอย่างปราศจากอาลัยในตัณหา เป็นความสุขชื่นบานเกินเปรียบแท้
บุคคลผู้ใดบรรลุแล้วซึ่งธรรมอันสุดประเสริฐ คือพระนิพพานนี้ย่อม

  • เป็นผู้มีความอดทนอย่างยิ่งต่อความเย็น ร้อน หิวกระหาย และสัมผัสร้ายอันเกิดจากเหลือบยุง ลมแดด และสัตว์เลื้อยคลานทั้งหลาย
  • เป็นผู้มีความอดทนอย่างยิ่ง อดกลั้นได้อย่างสงบต่อถ้อยคำล่วงเกิน ถ้อยคำเสียดสี คำด่าว่าของผู้อื่น
  • เป็นผู้อดทนอย่างยิ่งต่อทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นจากอาพาธประเภทต่างๆ อันเกิดขึ้นอย่างแรงกล้า ทำให้หมดความรำคาญ ยากที่บุคคลทั่วไปจะทนได้
  • เป็นผู้อดทนอย่างยิ่งต่ออารมณ์อันมายั่วยวน
  • เป็นผู้กำจัดราคะ โทสะ และโมหะได้แล้วอย่างเด็ดขาด มีกิเลสอันย้อมใจดุจน้ำฝาดอันตนสำรอกออกได้แล้ว เป็นผู้ควรรับของขวัญ ควรได้รับการต้อนรับ ควรแก่ของที่ทายกผู้มีศรัทธาจะทำบุญ ควรเคารพกราบไหว้เป็นเนื้อนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า
จุดมุ่งหมายอันใดเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดสำหรับผู้บวช บัดนี้พระพุทธอนุชาได้บรรลุแล้วซึ่งจุดหมายอันนั้น คืนนั้นท่านเสวยวิมุตติสุขอยู่ตลอดราตรี


[หยุดเสียงจากคลิป]

ก็...นิพพาน ในเบื้องนี้เราก็ค่อยๆ จัดการกับตัณหานะ

ที่เผาร้อนเผารนอยู่ในใจไปเรื่อยๆ ด้วยการเข้ามาพักอยู่ในสมาธิ

แล้วก็เห็นความจริงในสมาธิตั้งแต่ฌานที่ 1

พอถึงฌานที่ 4 เราจะไปพูดกันอีกครั้งนึงในสัมมาสมาธิ

แล้วเราจะได้ยินคำว่า “สติเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์” ซึ่งตอนนั้นจะไม่มีสภาพของตัวตน

จะเป็นสภาพความรู้สึกที่เป็นธรรมชาติบริสุทธิ์

จะทำให้จิตเทียบเคียงได้อีกครั้งนึงในการเดินทางต่อไป

ดังนั้นถ้าเรานั่งสมาธิเท่าที่เรานั่งได้จะฌานที่เท่าไหร่

หรือความสงบแค่ไหนก็ตาม ก็ไม่ต้องห่วง

พระอานนท์ก็บอกว่า พระผู้มีพระภาคฯ ตรัส สันทิฏฐิกนิพพานเริ่มต้นตั้งแต่ปฐมฌาน

ก็แสดงว่าพอจะเอาไปเทียบเคียงกับสภาพความร้อนอื่นๆ ได้ละ

ความร้อนจากตัณหา ในปฐมฌานไม่มี

ดังนั้นก็จะเห็นได้ แล้วปฐมฌานแค่ไหนหรอ?...

แค่ที่ท่านมีความตั้งใจจะทำอะไรด้วยความมุ่งมั่น

มีสมาธิแน่วแน่นั่นปฐมฌานแล้ว มีปีติ บางครั้งก็เกิดเป็นปีติขึ้นมา

เกิดความแน่วแน่ในสิ่งที่จะทำ เกิดดำริตริตรึกขึ้นมาในองค์ของกรรมฐานนั้นๆ

จิตใจก็สงบพอสมควร ไม่ได้แปลว่าต้องเงียบฉี่ก็เปล่า

แต่มีความตั้งมั่น อยู่ในปฐมฌานคือเอกัคคตาจิต

ทีนี้ธรรมอีกตัวนึง ธรรมอีกหมวดนึง ที่เราได้ยินบ่อยมาก

แล้วก็จำเป็นอย่างยิ่งในการปฏิบัติธรรมนะ ได้ยินกันมาก็มาก ฟังกันแล้วก็เยอะนะ

จะนึกว่าตัวเองเข้าใจก็ตามที นั่นก็คือ “ไตรลักษณ์”


ลักษณะ 3 อาการที่เป็นเครื่องกำหนดหมาย 3 อย่าง

อันให้ถึง ให้รู้ถึงความจริงของสภาวธรรมทั้งหลายที่เป็นอย่างนั้นๆ ตามธรรมดาของมัน

รูปนามทั้งหลาย อะไรคือรูปนาม?

นี่ก็เป็นรูปนาม อะไรก็เป็นรูปนามทั้งนั้นแหล่ะนะ

อ่ะอันนี้ไม่ใช่รู้หรอ ทำไมมีนามด้วยหรอ? มีหัวใจ มีความคิด มีจิตด้วยหรอ

คำว่า “รูปนาม” ให้หมายถึง โมเลกุลที่มีความว่างขั้นอยู่ระหว่างโมเลกุล

แล้วก็มีอีกอะตอมนึงมา...อะไรอย่างเนี้ยะ นะ

มันก็มีความว่างขั้นระหว่างช่องว่างนั้น อันนั้นน่ะเป็นนาม นั่นมีรูปมีนามขั้นอยู่

เพราะฉะนั้นความเป็นรูปนาม  เราจับว่ามันแข็งๆ ก็จริง

แต่ถ้าเราเอากล้องขยายแบบกำลังขยายสูงมากๆ

เราก็จะเห็นว่า มันก็มาต่อๆ ต่อๆ ต่อๆ ต่อๆ กันด้วยแรงดึงดูดของมันเอง นี่จึงทำให้มันไม่เสถียร

เรามีปัญญาเห็นว่าไอ้นี่ (ไฟฉายในมือ) อยู่ได้พันปี

แต่มันก็เสื่อมสลายไปในที่สุด หมื่นปีก็อาจจะไม่เหลืออันนี้เลยก็ได้

แต่อันนี้ก็เสื่อมสลายเร็วหน่อย (ของอีกอันนึงบนโต๊ะ) น่ะ

อันนี้ก็เสื่อมสลายเร็วหน่อย (ของอื่นอีกอันนึงบนโต๊ะ)

กระดาษ (หนังสือบนโต๊ะ) นี่ก็เสื่อมสลายเร็วหน่อย ทั้งนั้น

ทั้งหมดนี้ (ของทุกๆ อย่างบนโต๊ะ) ก็เป็นรูปนามทั้งนั้นแหล่ะนะ...รูปนาม

งั้นด้วยความที่รูปนามมีสภาพที่เสื่อมสลายและก็มีโมเลกุลที่ขยับเขยื่อน

มันจึงแสดงผลออกมาเป็น “อนิจจัง” ให้เราเห็น

แล้วรูปนาม (ร่างกาย) นี้ล่ะ เป็นอนิจจังมั้ย?...อันนี้ยิ่งเห็นชัด

เพราะความที่มันเกิดขึ้นดับไปของแต่ละเซล แต่ละโมเลกุล ตลอดเวลา

ซึ่งไม่ได้ถามเราซักคำ ผมเผิมอะไรมันก็เปลี่ยนแปลงไปตามกาลของมันตลอดเวลา

นี่ก็เปลี่ยนเป็นขาว ขาว...ขาวเดี๋ยวๆ ก็ยาวขึ้น ยางขึ้นเดี๋ยวร่วงไป

ทุกอย่างเปลี่ยนไปตาม...ตามเวลาซึ่งเปลี่ยนไป ซึ่งแสดงผลออกมาเป็นอนิจจัง

ไตรลักษณ์หรือว่าการแสดงผลของรูปนามทั้งหลายจึงออกมาเป็น 3 อย่าง


หนึ่งก็คือ “อนิจจัง” หรือ “อนิจจตา” คือความไม่เที่ยง ความเป็นของไม่เที่ยง

“ทุกขตา” ความเป็นทุกข์

“อนัตตตา” ความไม่มีตัวตน

เอาล่ะเราอาจจะคุ้นเคยกับคำว่า “อนิจจัง”

แต่คำว่า “ทุกขัง” และ “อนัตตา” เราอาจจะยังไม่คุ้นเคยเท่าไหร่

เรามักจะเห็นคำว่า “ไม่มีตัวตน” แล้วเราก็งงๆ พอเวลามีใครมาพูดถึงว่า

นี่ (ร่างกาย) ไม่มีตัวตนเป็นอนัตตา เราก็จะงงทันที

ทุกคนจะมีความรู้สึกเหมือนกันและไอ้ที่นั่งอยู่นี่มันเป็นใครถ้ามันไม่มีตัวตน?

แล้วฉันคือใคร? ฉันคือผู้ที่ไม่มีตัวตนหรอ? แล้วฉันพูดได้ยังไงว่าฉันไม่มีตัวตน?

มันจึงงงเอง ฟังธรรมแล้วก็เลยงง... เอาล่ะไม่เป็นไรหรอก งงไปเหอะ

เพราะของเหล่านี้  ถ้าง่ายคงไปกันหมดแล้ว

แต่คงมีอะไรซักอย่างที่เราไม่รู้ หรือหลายอย่างก็เลย...ที่เราไม่รู้

วันนี้ความรู้สึกเป็นเราเนี่ย จะเข้าถึง ไม่เข้าถึง ไม่รู้แต่ขอให้รู้ความจริงไว้

ความรู้สึกเป็นเราเนี่ย เป็นความรู้สึกที่ไม่มีอยู่จริง แต่มันถูกสร้างขึ้นมาด้วยความไม่รู้

กายเนี่ยะ มีอาหารเข้าไป...เค้าโต

ใส่อาหารอย่างปาท่องโก๋เข้าไป ซึ่งทอดด้วยน้ำมันดำๆ ก็เป็นมะเร็ง

เป็นไปตามเหตุปัจจัยของธาตุที่ใส่เข้าไป หรืออาหารที่ใส่เข้าใป

แต่ความรู้สึกนึงที่เหมือนจูบลิงเมื่อกี้เนี่ย ที่สร้างขึ้นมาลอยลมนั่นน่ะ

ความรู้สึกนั้นน่ะที่บอกว่า อันเนี้ยะ...เป็นกู

ถ้าท่านนึกภาพจูบลิงแล้วสร้างผู้ชายคนนั้นมาได้ ความรู้สึกเดียวกันน่ะ

ที่สร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของ (ร่างกาย) รูปนามนี้

ขันธ์ 5 นี้ ถูกยึดถึอโดยความรู้สึกนั้น...ซึ่งไม่มี

แล้วความรู้สึกนั้น...เกิดๆ ดับๆ ความรู้สึกนั้น...เกิดๆ ดับๆ

จึงทำให้เกิดการเดินจงกรม นั่งสมาธิ

ถ้าท่านตั้งมั่นจะมีหลายขณะที่ท่านเข้าไป..."เรา" อยู่ไหน?...ไม่มี

เดินๆ ไป มีผู้รู้กับผู้ถูกรู้?...แล้ว "เรา" อยู่ไหน?...ไม่มี

โดนเข้าไปบ่อยๆ เนี่ย จิตจะเริ่ม เอ๊ะ! เหมือนกันน่ะ... อืม! "เรา" อยู่ไหนวะ?

(ก้อนหินบนโต๊ะ)...มันมี ยื่นเข้าไปสัมผัส (มือไปหยิบก้อนหิน) มีความรู้สึกสัมผัส

สัมผัสตรงๆ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง มีแต่ตัวสภาพที่เกิด อยู่ๆ ปั๊บ

อีกแป๊บนึงมาสร้าง "เรา" เย็น...อื๊ม! "เรา" เย็นหรอ?...

มีอัตตวาทุปาทานมาหลังตัณหา สร้างตัวตนขึ้นมาทีหลัง

อื๊ม! จริงๆ สภาพเย็นเกิดก่อน สภาพเย็นเกิดขึ้น

สมมติว่าชอบ เกิดความชอบ อยากเย็นอีก แล้วก็ไปมีผู้อยากเย็น ฮื้อ!

ถ้าเรามีตัวตนทำไมมันมาทีหลังวะ?...(หัวเราะ)...

ทำไมมาทีหลังวะ?...ก็โง่เอง   ถูกหลอก

ดังนั้นลักษณะ 3 หรือไตรลักษณ์เนี่ย

ใครเข้าไปเห็นลักษณะของสิ่งนี้ๆ สิ่งนี้ๆ สิ่งนี้ว่า

มันเป็นลักษณะ มีลักษณะเป็นอนิจจัง...โอ๊! ไม่เที่ยงนะ ไม่เที่ยง

จะไม่เที่ยงแบบไหนก็ตาม จะด้วยการเสื่อมสลายไปทั้งตัว

หรือว่ืาจะเสริมหรือว่าจะเสียหรือว่าอะไรก็แล้วแต่ มีสภาพเป็น “ทุกข์”

เดี๋ยวเราจะไปคุยกันตอนปฏิจจสมุปบาท

ส่วนสภาพเป็น “อนัตตา” ก็จะไปว่ากันข้างหน้าอีกที... เอาแค่ตรงนี้ก่อน เอาแค่ตรงนี้ก่อน

ดังนั้นในนักปฏิบัติ วันนี้เข้าสู่วันที่ 2 เมื่อท่านมีสมาธิพอสมควร

อารมณ์ทั้งหลายเกิดขึ้นดับไป จากสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาลอยลมด้วยความไม่รู้

จำคำผมไว้ดีๆ จำคำผมไว้ให้มาก ผมจะพยายามพูดซ้ำๆ

สิ่งนี้เกิดขึ้นมาด้วยความไม่รู้

ถ้าทุกคนถามว่า ทุกข์มาจากไหน?

วันที่ผมเล่าให้ฟังว่า วันที่ผมมีความทุกข์มาก

ขณะที่ผมกำลังกราบพระ ผมเงยหน้าขึ้นมา มันแวบนึง เฮ้ย! ทุกข์หายไปไหนเนี่ย?

น่ะ ผมมีความทุกข์มากเพราะผมเข้ามาในศูนย์ปฏิบัติธรรม

ตอนนั้นผมก็รู้สึกว่าผมทุกข์มาก ผมมีปัญหา...

แต่วินาทีนึงขณะที่ผมเงยหน้าขึ้น ฮึ้ม! มันแวบนึงที่ความทุกข์มันไม่มีน่ะ

เพราะทุกทีมันมีความทุกข์ อ่ะ แต่นี่ความทุกข์มันไม่มี มันเลยเอะใจขึ้นมา...

ถ้าทุกข์มาจากหนี้สิน ทุกข์ต้องไม่ดับ

หรือทุกข์ไม่ได้มาจากหนี้สิน?

หรือทุกข์มาจากเราทำเอง? ......หรือทุกข์มาจากเราทำเอง?

วันนั้นผมก็โพล่งขึ้นแค่เนี้ยะ แล้วผมก็ไม่เข้าใจ

แต่ถ้าจะเอาความเข้าใจในวันนี้ไปตอบวันนั้น ก็คงต้องบอกนายประเสริฐในวันนั้นว่า...

ใช่! ทุกข์มาจากเราทำเอง

ด้วยความไม่รู้ที่ไปสร้าง "เรา" ขึ้นมา แต่ความไม่รู้ที่ไปสร้าง "เรา"

ถ้าทำลายความไม่รู้นั้นลงได้ "เรา" ก็หายไป ทุกข์ก็ไม่มีที่ตั้ง

เพราะฉะนั้น  ทุกข์ไม่ใช่มาจากเราทำเองหรอก...เพราะ "เรา" ไม่มี

ทุกข์มาจากความไม่รู้ที่ไปสร้าง "เรา" ขึ้นมาเฉยๆ

ทีนี้เลยโดนเลย !!

ทุกอย่างโดนหมดเลย นั่งสมาธิปวดขามั้ย?...ปวด ใครปวด?...เราปวด

แต่วันไหนที่เข้าใจแล้ว... ว้อบ! หายไป เนี่ย... ปวดมั้ย?...ปวด

เป็นสภาพปวดขึ้นเพราะขามันพับอยู่อย่างนี้นาน

จากนั้นดูเหมือนสักกายทิฏฐิหายไป เข้าสู่ความเป็นอริยะ นึกว่าทุกข์จะหายไป...เปล่า

ในโสดาบัน สกิทาคามี พระอนาคามี ยังคงมีทุกข์อยู่อีก

เพราะยังมีจิตไปยึดถือความรู้สึกนี้เอาไว้ ด้วยความไม่รู้จริงๆ

ทำลายสักกายฯ ไปแล้วก็นึกว่าจะเป็นสุขล่ะงานนี้...เปล่า

จิตก็ยังไม่ยึดถือขันธ์อยู่ดี เพราะมันผสมกลมเกลียวกันแทบจะเป็นเนื้อเดียวกัน

 เหมือนน้ำกับนม ไม่ใช่เหมือนน้ำกับน้ำมัน

จิตกับ  วิญญาณนี้อยู่กันมาเหมือนน้ำกับนมเลยอ่ะ

ลองเอาไปตีรวมกันเนี่ย แยกกันไม่ออกเลยไม่รู้ใครเป็นใคร

เพราะฉะนั้นจึงสร้างเหตุเกิดกันอุตลุดหมด

จนกว่า โอ้โห! จะแยกน้ำออกจากนมได้น่ะ จิตจะได้กลับบ้านเดิม

วิญญาณก็อยู่ส่วนวิญญาณน่ะ ขันธ์ก็หมดแรง แล้วก็จบเห่กันไป

แล้วได้กลับไปเป็นจิตเดิมแท้ซะทีนะ

เส้นทางทั้งหมดที่เราพูดถึง ไม่ว่าเห็นการปรุงแต่งก็ดี

เห็นแล้วว่า...โอ๊! มันเป็นการสร้างการปรุงแต่งขึ้นมาแบบไม่มีตัวตนเลย

แต่เราก็เข้าไปจัดการมันไม่ได้ตรงๆ นี่คือสุดยอดของพระพุทธเจ้าจริงๆ

ดังนั้นอย่าตื่นเต้น เวลาฝรั่งเขียนว่า เห็นอย่างนี้อย่างโน้นอย่างนั้น

สมมติว่าฝรั่งอธิบายได้อย่างที่ผมอธิบายเลย ก็ฟังแล้วยิ้มๆ ไปเถอะ

ใครก็เห็นเป็น ผมบอกให้ ใครก็เห็นได้ ถ้ามีปัญญา มีฌานหน่อย... แต่มันไม่หลุดพ้น

เพราะมันไม่ได้ไปจัดการที่ตัวที่มันเห็นนี่ เห็นการปรุงแต่ง... โอ๊! รู้แล้วๆ

พอเกิดการปรุงแต่งก็จัดการกับการปรุงแต่งนี่

จัดการอะไรกะเค้าเล่า! มันอยู่ที่ไหน?...(หัวเราะ)...มันไม่มี!

อริยมรรคเป็นการไปดับเหตุ ดับเหตุที่ไหนล่ะ ?

ก็บอกแล้วว่า ฟองก๊าซที่มันผุดขึ้นมาจากน้ำเน่า ไปนั่งไล่ทำฟองก๊าซให้มันหอมหรอ?

หรือไปนั่งจี้ เอาไม้ไปทิ่มทีละฟองอย่าให้มันโผ่ขึ้นมาหรอ?...เปล่า

อริยมรรคคือการถ่ายน้ำ ลอกบ่อ เติมน้ำใหม่...

ศีลไง... ลอกบ่อ ถ่ายน้ำ เอาน้ำเสียออก...ละอกุศลออกไป

เจริญกุศลเนี่ย...เติมน้ำใหม่เข้ามา เติมน้ำใหม่เข้ามา

สุดท้ายเป็นไง?...ฟองหาย ฟองแก๊สไข่เน่าหาย

นี่...อริยมรรคมีองค์ 8 ทำงานแบบนี้

ไม่ใช่ไปนั่งไล่บี้ไอ้...ไอ้ฟองก๊าซไข่เน่า

ถ้านั่งไล่บี้ฟองก๊าซไข่เน่า ไล่ให้ตายล่ะทั้งชาติไล่กันไม่จนหรอก

พอผุดทางนี้ เอ้านั่งบี้อยู่ตรงนี้ เอ้าไปผุดตรงโน้น เหตุเกิดมีไม่หยุดอ่ะ

แล้วเมื่อไหร่จะจบกันล่ะ แล้วเมื่อไหร่จะสงบเย็นกันซักที...ไม่มีถ้าวิ่งไล่กันแบบนี้ ไล่ทั้งชีวิต

ปฏิบัติตามมรรค...หมด ฟองเกลี้ยง !!

ไม่ต้องไปจัดการกับมันด้วย เพราะฉะนั้นตายหมด นะ...ดับเอง ไม่ต้องไปห่วง

นี่แหล่ะนะครับ สาระสำคัญของการไปปฏิบัติทั้งหมด

เอ้าล่ะ ตรงนี้น่าจะพอสมควรนะครับ

เพราะว่าปกติช่วงบ่ายเนี่ย ผมโดยความตั้งใจของผมจะไม่บรรยายอะไรให้เยอะแยะมากมายหรอก

จะบรรยายเฉพาะเนื้อๆ แก่นๆ แล้วก็นำไปใช้ปฏิบัติ

หลักสูตรนี้จะพยายามพูดน้อยๆ นะ แต่ละครั้งก็ซัก 45 ถึงชั่วโมงเศษๆ พอ

ไม่บรรยายแบบเป็น 2 ชั่วโมง 3 ชั่วโมง แล้วก็เปิด VEDIO โอ้โหจนจบ หลับก่อน อะไรอย่างนี้นะ

พอไปเปิดฟังวันหลัง แล้วก็ผมเอง ผมก็ไม่รู้ว่าผมเหมือนท่านมั้ย

สมมติว่าผมเห็นครูบาอาจารย์หรือแม้แต่ของตัวเองเนี่ย

ผมก็นั่งฟังอย่างทุบเปลือกเนี่ย มันก็จะบอก mp3 มันจะบอกว่ากี่น่าทีถูกมั้ย

เวลาเราเอาเข้าไปในพวก ipad ในอะไรเนี่ย ผมจะเลือกฟังที่มันสั้นๆ (หัวเราะ)

ผมขี้เกียจฟังอ่ะ มันจะพูดอะไรเยอะแยะวะ ก็เลือกฟังสั้นๆ

ตอนนี้ผมก็จับทางได้ ผมก็บอกอ้า...ทีมงาน บอกตัดให้มันสั้นๆ (หัวเราะ) ตัดสั้นๆ นะ

ตอนนี้มันแข่งกันสั้นอ่ะแต่ละตอน คนจะได้...เออ!

บางทีรถมันติดไม่นานน่ะ ครึ่งชั่วโมงก็เอาแล้ว

มันถึงแล้วนะ พอ mp3 ตอนนี้ก็ไปอยู่ในตามรถ ตาม ipad ตามอะไรหัวนอนอะไรเนี้ยะนะ

มีหลายคนมาบอกผม บางคนลืมปิดอ่ะ เปิดแล้วลืมปิด

คนก็เลยมาบอกผมเดี๋ยวนี้ อาจารย์เสียงแหบ

เพราะมันพูดทั้งคืนเลย (หัวเราะ) เปิดแล้วลืมไปเลย

บางคนโทรศัพท์หากันเนี่ย ฝั่งนึงก็เปิด ฝั่งนึงก็เปิด

ต้องบอกให้เธอหรี่เสียงอาจารย์ประเสริฐหน่อย

มันตีกับอาจารย์ประเสริฐของฉันอยู่ (หัวเราะ)

ก็ดีนะครับ ฟัง ก็เท่ากับเราอยู่ในคอร์สกันไป

อ่ะ เดี๋ยวเรามาภาวนาร่วมกันซักบัลลังก์นึง

ตอนนี้ก็ 2 โมง 45 นะ นั่งเป็นเพื่อนกัน

ท่านนั่งตามอัธยาศัยเลยนะครับ ผมจะไม่บอกว่ากี่น่าที ไปผมก็ไปเลย

ท่านจะลุกกี่โมงท่านก็นั่งนะ ท่านจะนั่ง แต่อย่าให้ต่ำกว่าครึ่งชั่วโมงนะ

ทีนี้เห็นความจริงตามความเป็นจริงนะ

อาการปวดเป็นสภาพที่เกิดขึ้นจากขามันไม่ได้ขยับ  อย่าต้องเอามาเป็นเราเป็นเขาเลย

สภาพมันเกิดขึ้นตามสภาพ แล้วก็ไม่จำเป็นต้องมีอะไรเข้าไปหงุดหงิดรำคาญ

หรือชอบใจไม่ชอบใจ ไม่ต้องไปเห็นเป็นของอัศจรรย์อะไรนักหนา

เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นตามปกติ เห็นเป็นอย่างนี้แหล่ะ

แล้วท่านจะเกิดสัมมาทิฏฐิ ไม่ได้มีอะไรชอบใจไม่ชอบใจ

ไม่ต้องไปชอบใจไม่ชอบใจซ้ำลงไปในเวทนาทางกาย

ไม่ต้องเป็นสุขเป็นทุกข์อะไรกับมันทั้งนั้นล่ะ ค่อยๆ ฝึกไป

เจริญอริยมรรคก็เจริญไป

ในส่วนนี้ก็อย่าปล่อยให้ไอ้สัญชาตญาณมันลากไปจนสร้างอะไรเยอะแยะ

งั้นวางอุเบกขาก็ไม่ใช่วางแบบเฉยชา ไม่ใช่เฉื่อยแฉะนะ

เป็นการวางอย่างรู้ด้วยสติปัญญาว่า

โอ! ของมันเป็นอย่างนี้นี่เอง สภาพเกิดขึ้นดับไป สภาพมันก็เกิดขึ้นดับไป

จะไปยึดถืออะไรนักหนา

เมื่อเข้าใจอย่างนึง ก็จะเข้าใจทุกอย่างในโลกนี้แหล่ะ

จบการบรรยายตอนที่ 4
-------------------------------------------------------------------------------------------
ตอนที่ 3 แรงเงา                                               ตอนที่ 5  ขันธ์ มีความสืบเนื่อง

กราบอนุโมทนาบุญกับผู้บรรยาย ทีมงาน และผู้เข้าร่วมอบรมทุกท่านค่ะ

- ด้วยจิตคารวะ -

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น