2/22/2557

พังประตูคุก ตอนที่ 7 มรรคมีองค์ ๘ (องค์ที่ ๖ – องค์ที่ ๘)

ถอดคำบรรยาย:
คอร์ส “มัคคานุคาเข้มระดับ 2” เรื่อง พังประตูคุก
ตอนที่ 7 “มรรคมีองค์ ๘” (องค์ที่ ๖ – องค์ที่ ๘)

บรรยายโดย อาจารย์ประเสริฐ อุทัยเฉลิม
ระหว่างวันที่ 25 – 29 มิถุนายน 2556
สวนธรรมศรีปทุม

                                                             วีดีโอประกอบการบรรยาย

                                  

(ต่อ)

เอาล่ะครับ เข้าสู่ช่วงบ่าย

ในการบรรยายครั้งนี้ก็จะเป็นเรื่องของอริยมรรคมีองค์ 8 ต่อจากภาคเช้านะครับ

ซึ่งเราได้สาธยายไปจนถึง สัมมาอาชีโว คือ มรรคองค์ที่ 5

ที่เหลือก็จะเข้าสู่ มรรคองค์ที่ 6 7 8  ซึ่งอยู่ใน ...พระพุทธเจ้าสังเคราะห์ไว้ในกลุ่มของสมาธิ

ทีนี้ คำว่า สมาธิ อย่าไปนึกถึงการนั่งหลับตานะครับ

ในกลุ่มของสมาธิหมายถึงการจัดการในระดับของจิต

การจัดการในระดับของจิต แสดงว่า มรรคทั้ง 3 องค์ จะเริ่มเข้าไปจัดการกับจิต

เพราะอย่างที่บอกคือ ไม่ว่าเราจะถือศีลบริบูรณ์แค่ไหนก็ตาม ความทุกข์ก็ยังไม่หมดไป

เราก็ดูแลกายกับวาจาได้ดีแค่ไหนก็ตาม แต่ความทุกข์มันเกิดขึ้นตรงนี้..ที่จิต...!!

ที่จิตที่ใจของเรานี้ ดังนั้น มรรคองค์ที่ 6 7 8 ก็จะเริ่มเข้าไปจัดการ

เดี๋ยวเราจะมาดูกันต่อนะครับ แล้วก็สวดตามพระ แล้วก็สาธายายกันไป


(องค์มรรคที่ 6)

เรามาดูกันทีละข้อ

วันนี้ หลายคนที่มาบอกว่า เข้าใจนะ  แต่พอกลับไปบ้านแล้วมันไหลเหมือนเดิม


มรรคองค์ที่ 6 ข้อย่อยที่1 หรือเราอาจจะเรียกว่า 6.1 เพื่อให้สะดวกในการเรียกข้อต่อๆไปด้วย





























ความพากเพียรชอบเป็นอย่างไรเล่า?

ย่อมทำความพอใจให้เกิดขึ้น ย่อมพยายามปรารภความเพียร

ประคองตั้งจิตไว้เราจะเห็นมีคำในประโยคต่างๆเหล่านี้

แล้วก็ต่อด้วย เพื่อจะยังอกุศลธรรมอันเป็นบาปที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น

แสดงว่า ข้อที่ 6.1 ของสัมมาวายาโม คอยไม่ให้อกุศลเกิด

ทำยังไงไม่ให้อกุศลเกิดขึ้นในใจ ก็ทำอินทรีย์สังวรศีลขึ้นมา

ต้องคอยสังวรณ์ระวัง อินทรีย์ทั้ง 6 ก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

เพราะว่า อกุศลจะเกิดขึ้นได้อย่างไร อกุศลก็เกิดขึ้นจากทวารทั้ง 6 นั่นแหละ

ปุ๊บขึ้นมา นั่งอยู่ดีๆ นั่งสมาธิทำอาณาปานสติ ใจแว๊บขี้นมา

คิดถึงหน้าคนที่ไม่ชอบขึ้นมาปุ๊บ ! อกุศลเกิดแล้ว

ทะลุขึ้นมาออกทางอินทรีย์ทางใจ ก็ต้องมีสติคอยระลึก...แล้วก็จัดการไป

หรือนั่งๆได้ยินเสียง คนทำอย่างนั้นอย่างนี้ เสียงของหล่น หนวกหู ตกกะใจ

ปั๊บ! กระแทกเข้าไปเกิดอกุศล  ก็รีบจัดการไป

ดังนั้นก็ต้องดูแลอินทรีย์ ทวารทั้ง 6


ส่วนคำว่า ย่อมทำความพอใจให้เกิดขึ้น ย่อมพยายามปรารภความเพียร ประคองตั้งจิตไว้นั้น

หมายถึงอะไร   ซึ่งเดียวเราจะไปพบข้อความนี้ใน 6.2 / 6.3 / 6.4 ทั้งหมดเลย

เป็นคำซ้ำเลย พระพุทธเจ้าไม่เคยตรัสอะไรที่ไม่มีประโยชน์เลย เราทราบดี

ดังนั้น คำ คำนี้ น่าจะเป็นคำที่มีความหมาย  ไม่อย่างนั้น ท่านคงจะไม่ซ้ำมาตลอด

เราจะเห็นว่า เมื่อเราเกิดสัมมาทิฏฐิ





























สัมมาทิฏฐิคือ รู้ว่าอะไร คือทุกข์ อะไรคือเหตุ อะไรคือนิโรธ  อะไรคือ มรรค

เราจะเห็นถึง  ความน่ากลัวของสังสารวัฎ

เราจะรู้จักเรื่องกุศล - อกุศล

เราจะรู้ว่า เมื่อทำกุศล ผลเป็นกุศล - เมื่อทำอกุศล  ผลเป็นอกุศล

ดังนั้น หากอกุศลเกิดขึ้นในใจมัน จะส่งผลต่อไปเป็นอกุศลขึ้นไปอีก

เกิดเป็นความทุกข์แน่นอน คนที่เห็นโทษภัยของมันแล้ว

คนๆนั้นจะยังความพอใจให้เกิดขึ้นที่จะมีความเพียร

วันนี้หลายคนที่มาบอกว่า เข้าใจนะ แต่พอกลับไปบ้านแล้วมันไหลเหมือนเดิม

มันทำไม่ได้ซักที ทำยังไงมันถึงจะมีความเพียรที่ต่อเนื่อง

นี่แหละ คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าถึงได้ย้ำเอาไว้

ทำไมท่านจึงไม่มีความเพียรที่ต่อเนื่องเลย?

เพราะท่านไม่ได้มีความพอใจ หรือฉันทะ ในการกระทำอย่างนี้เลย

มันเป็นไปไม่ได้หรอกที่มันจะเกิดสิ่งนี้ขึ้นมา แล้วท่านก็จะไม่พยายาม

จะไม่ปรารภความเพียรขึ้นมา และจะไม่ประคองตั้งจิตให้มันอยู่ในฝ่ายกุศล

หากวันนี้เราไม่เข้าใจจริงๆ ไม่เกิดสัมมาทิฏฐิในเบื้องต้นจริงๆ

มันเป็นการยากที่ท่านจะเดินตามมรรค จนกระทั่งบรรลุมรรคผลตามที่พระองค์ตรัสรู้

ไม่มีทาง  ถามตัวเราเองก็ได้ !!

แต่ถ้าใครมีฉันทะ มีวายามะ มีความปรารภความเพียร ทำไมเป้าหมายมันจะไม่ถึง

เราไม่ได้เอาจริงแค่นั้นเอง สาระมันอยู่ที่ตรงนี้แหละ



เพราะฉะนั้นแล้วเมื่่อเราเกิดความพอใจที่จะทำ มันก็จะเกิดความพยายามตามขึ้นมาเอง

แล้วก็จะเป็นผลสืบเนื่องกันไป ที่จะทำความพากเพียร

เอาล่ะ มาดู 6.2 กันต่อ





























เอาล่ะ นะครับ มาถึง 6.2  กับ 6.3







ใน 6.2 เพื่อที่จะละอกุศลธรรมอันเป็นบาปที่เกิดขึ้นแล้ว บาปอกุศลที่เกิดขึ้นในใจ

อย่างเช่น เมื่อกี้เราบอกว่า พอมีใครทำเสียงดังหนวกหู เราก็รู้สึกหงุดหงิดรำคาญขึ้นมา

ตรงนี้อกุศลเกิดแล้ว พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสว่า ให้เพียรละอกุศลเสีย  ละอกุศลออกไป

เดี๋ยวๆ อกุศลก็เกิดขึ้น เราก็สังเกตุได้ ไม่ว่าจะทางหู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่กระทบเข้ามา

อกุศลเกิดขึ้น ละเสีย ... อกุศลเกิดขึ้น ละเสีย

ข้อ 6.3 ท่านก็บอกต่อไป เดี๋ยวเราจะเห็น บอกนำไปได้เลย เพื่อจะทำกุศลให้เกิดขึ้นแทน

เมื่อละอกุศล เราก็เติมกุศลเข้าไป  เมื่อละอกุศล ก็เติมกุศลเข้าไป

ทำไม ...ทำไมเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องใหญ่??

ถ้าเราย้อนกลับไปที่แรงเงาที่เราพูดถึง แล้วเราเห็นชาร์ท

เราจะเห็นว่า สัตว์โลกทั้งหลาย รวมถึงมนุษย์ รวมถึงพวกเราทั้งหมดสั่งสม อกุศล มามาก

สั่งสมชีวิตมาตามสัญชาติญาณเพื่อจะเอาตัวรอด ...นี่เป็นธรรมชาติของสัตว์โลก

ดังนั้น การกระทบกระทั่ง การเอาตัวรอด การเบียดเบียนจึงเกิดขึ้นตลอดเวลา

ฝังรากลึกอยู่ข้างใน  ความเป็นตัวตนฝังรากลึกอยู่ข้่างใน

จึงเกิดการตอบโต้แบบอัตโนมัติ  แบบไม่ต้องคิด อยู่เสมอ

แล้วการตอบโต้แบบอัตโนมัติเนี่ยแหละ ที่เป็นการตอบโต้ในฝั่งอกุศลเสียกว่า 80 %

เพราะมันคือความเห็นแก่ตัวของทุกคน ที่มีอยู่

การที่พระพุทธเจ้าให้ละอกุศล ละอกุศล ละอกุศล

เพื่อที่จะเปลี่ยนสัญชาติญาณเดิมให้เข้าสู่ ศูนย์ (0)ให้มากที่สุด

เพราะทุกคนติดลบกันมาทั้งนั้นเลย

แต่เมื่อเอาอกุศลออก แล้วเติมกุศลเข้าไป

ที่เราบอกว่าตัวตนแท้ จะีค่อยๆเคลื่อนตามขึ้นมาเรื่อยๆ

เคลื่อนตามขึ้นมาเรื่อยๆ   เข้าใกล้ศูนย์มากขึ้นเรื่อยๆ

จากติดลบมากๆเริ่มเข้าใกล้ศูนย์ เริ่มลบน้อยลง ลบน้อยลง

จากใครก็ตามที่เพียรละ เพียรละ เพียรละ เพียรละออกไป

อย่าลืมว่า ขันธ์นี้ ไม่มีตัวตน...ฝึกยังไง ไปอย่างนั้นเลยนะ!!

แต่ท่านปล่อยให้มันเป็นไปตามสัญชาติญาณที่มันเคยเป็น

ทีนี้ พอฝึก ก็กลายเป็นฝืน ... พอฝืน ก็ต้องอดทน

ทำไมพระพุทธเจ้าได้ถึงตรัสว่า ขันติเป็นธรรมเครื่องเผากิเลส

ต้องอดทนอย่างนี้แหละ เพื่อให้มันขึ้นมาให้ได้

อดทน อดทน อดทน อดทน อดกลั้น ตั้งแต่ศีล จนกระทั่งถึงใจ

สัมมาวายามะ เพียรไปเรื่อยๆ เพียรไปเรื่อยๆ ต้องเพียรไม่เลิก

ท่านถึงได้บอกว่า ถ้าไม่มีความพอใจ ไม่พยายาม ไม่มีความปรารภความเพียร

ประคองตั้งจิตให้อยู่ในฝ่ายกุศลน่ะ ไม่มีทาง !!

ไม่มีทางที่จะรั้ง หินที่เราบอกเนี่ย ทำให้มันเคลื่อนขึ้นมาได้เลย

บางคนอาจจะเกิดมาด้วยการที่ชำระมามากแล้ว ทำอีกไม่มาก

บางคนอาจจะรู้สึกว่า โอ้โห ของชั้นนี่เพียบเลย

ก็ทำกันไป   ใครจะแค่ไหนไม่มีใครรู้หรอก

แต่เป้าหมายของเรามีเป้าหมายเดียว คือ พ้นทุกข์กันไปซะที

ใครจะไม่ได้สนใจเรื่องข้างหน้าว่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้

เอาแค่เรื่องพ้นทุกข์  เอาแค่ทุกข์น้อยลง ๆ ๆ จะน้อยลงได้

คือ เอาอกุศลออก เติมกุศล ...เอาอกุศลออก เติมกุศล

6.3 นะครับ เรามาดู 6.3 เพื่อจะยังกุศลที่ยังไม่เกิด ให้เกิด



เอาละ เมื่อกี้เราละอกุศลออกไปเรื่อย  เราละอกุศลออกไป ก็เติมกุศลเข้าไป

ในอาณาปานสติ ซึ่งก็ชัดเจน ที่พระพุทธเจ้าสรรเสริญมาก

เกี่ยวกับลมหายใจ การอยู่กับลมหายใจ

ซึ่งพระองค์ก็บอกว่า นี่เป็นวิหารธรรมที่ท่านอยู่มาตลอด ตั้งแต่เป็นโพธิสัตว์

เราจะสังเกตได้ว่า เมื่อเราอยู่กับลมหายใจ เมื่อกุศลเกิด อกุศลก็เกิดได้ยาก

แต่ก็มีบางช่วงที่หลุดไป อกุศลเกิด

เมื่ออกุศลเกิดขึ้น ก็ละอกุศลซะ  บรรเทาเบาคลาย แล้วก็กลับมาอยู่กับลมหายใจ

เรื่องก็มีอยู่แค่นี้เอง...

พอสติระลึกได้ว่า อกุศลเกิด ก็เปลี่ยนกลับมาอยู่กับลมหายใจ

ลมหายใจเป็นกุศล อกุศลก็ดับไป เดี๋ยวๆมันจะไปอีก ก็ช่างมัน ก็ทำไปเรื่อยๆ

ท่านจึงบอกว่า ต้องเพียรทำไปเรื่อยๆ ไม่หยุด!!

เพราะฉะนั้น ในอริยมรรคมีองค์ ๘ โดยความเป็นจริงแล้วไม่ใช่ให้เรามานั่งศึกษาอย่างเีดียวนะ

จริงๆคือ การปฏิบัติทั้งหมด  ไม่ใช่ว่า ... โอ๊ย !ชั้นเข้าใจ อริยมรรคมีองค์ ๘ ชั้นเข้าใจ !

เข้าใจน่ะ ดีแล้ว แต่ต้องนำไปปฏิบัติ

ปฏิบัติได้มั๊ยล่ะ วันนี้อกุศลยังมีมั๊ยล่ะ  ? อกุศลยังมีมั๊ยล่ะ ?.....มี !!

แล้วล่ะรึยังล่ะ ? ... ละ ก็ละอยู่ทุกวันล่ะ

ละไม่หยุด !! ละจนหมด !! ถึงไม่หมดศูนย์น่ะ แต่ต้องหมดน่ะ !!

หมดเท่าที่จะละได้ แล้วกุศลก็เติมเข้าไปแทน

ไม่อย่างนั้น สัญชาติญาณของรูปนามนี้จะเปลี่ยนได้ยังไง ?

มันจึงต้องใช้ความเพียรอันไม่หยุดล่ะ   ถึงต้องมี "สัมมาวายามะ" นี่ล่ะ

ในผู้ที่พ้นทุกข์ได้จริงๆ คือ ทำไม่หยุด  ทำทุกนาที ทำทุกวินาที ทำตลอดเวลา

ต้องทำอย่างนั้น จนบรรเทาเบาคลาย จนจิตว่างจากอกุศลไปเยอะมาก

หลังจากนั้น ที่เหลืออยู่นี่คือ ติดฝังรากลึกแล้ว แล้วเดี๋ยวค่อยไปอาศัยสัมมาสติ

เห็นความจริง แล้วค่อยไปก็วางมันลง ไม่เข้าไปยึดถือมันแล้ว

ที่เหลือ เป็นเรื่องของนิสัยที่ติดขันธ์มาแล้ว เอาไม่ออกแล้ว

6.4 นะครับ  ในข้อสุดท้ายของสัมมาวายาโม เมื่อทำกุศลให้เกิดขึ้นใน 6.3 แล้ว





























ท่านก็บอกว่า  ก็ทำให้ยิ่งๆๆ ขึ้น

เพื่อความตั้งอยู่ ความไม่เลอะเลือน ความงอกงามยิ่งขึ้น ความไพบูลย์ ความเจริญ ความเต็มรอบ

นั่นคือ เติมกุศลเข้าไป แล้วก็ละอกุศลจนเบาบาง แล้วเติมกุศลจนมันค้างเลยนะ

ตั้งอยู่อย่างนั้น ตั้งจนเป็นนิสัยไปเลย

เพราะฉะนั้น เติมกุศลจนเป็นนิสัยไปเลย !! จนนี่คือนิสัยใหม่

นี่คือนิสัยใหม่ที่่จะไม่ไหลกลับไปทางอกุศลอีก

หลังจากนี้จะทำกุศลโดยส่วนเดียว  อกุศลไม่ทำอีกเลย

ต้องถึงอย่างนี้เลย !! แล้วก็กุศลต่างๆที่ทำไว้ เช่นอานาปาณสติ

รู้ลมหายใจในชีวิตประจำวัน  ก็ทำให้งอกงามไพบูลย์ยิ่งขึ้น

ที่ท่านมานั่งสมาธิ เดินจงกรมกันอยู่เนี่ย ทำให้กุศลที่มีอยู่แล้วงอกงามไพบูลย์ยิ่งขึ้น

ยิ่งๆๆๆขึ้นไปอีก  แล้วเดี๋ยวมันจะพัฒนา ต่อๆไป

เอาล่ะนะครับ สัมมาวายามะ มรรคองค์ที่ 6

ถ้าเรามาสรุปสัมมาวายามะ ก็จะได้เห็นใน 4 ข้อคือ

เพียรระวัง - เพียรละ - เพียรสร้าง  - แล้วก็  เพียรรักษา





วันนี้ สำหรับฆราวาส ผมว่า มรรคองค์ีที่ ๖ นี้ สำคัญมาก

เพราะฆราวาส ทุกคนก็ยังมีอกุศลอยู่เต็มหมด ศีลก็พยายามทำำักัน

เมื่อไหร่ก็ตามที่ศีลบริบูรณ์ดีแล้ว มรรคองค์ที่ ๖  ก็ยังจัดการต่อไป ...ก็จัดการต่อไป

ละกันไปเรื่อยล่ะ อกุศล เติมจนกระทั่งจนกุศลแข็งแรง จากนั้นจิตก็จะตั้งมั่นขึ้น

เข้าสู่สัมมาสติ มรรคองค์ที่ ๗

มรรคองค์ที่ ๗ นี่ก็เรียกว่า เป็นมรรคองค์ที่สำคัญมากๆที่มีการกล่าวถึงกันทุกสำนัก

ก็คือ สติปัฏฐาน ๔  ทำไมสติปัฐฐาน ๔  จึงมีความสำคัญ แล้วก็มีการกล่าวขวัญกันถึง

เนื่องจากว่าเมื่อเราเจริญมรรคขึ้นมาเรื่อยๆ เกิดสัมมาทิฏฐิ เกิดสัมมาสังกัปโปมาเรื่อยๆ

เริ่มเนกขัมมะ เริ่มดูแลศีลกับวาจาให้มีศีลบริบูรณ์

เริ่มละอกุศล เจริญกุศล ขณะนั้น จิตจะตั้งมั่นขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อจิตตั้งมั่นขึ้น อกุศลจะเข้ามาได้น้อย

การเข้าไปเห็นความจริงในระดับจิต จะเห็นได้ง่าย ง่ายมาก

โดยผ่านฐานทั้ง 4 ที่จิตจะต้องเวียนผ่านไปตลอดเวลา

ที่จิตเวียนผ่านไปผ่านมา ก็อยู่ในฐานทั้ง 4 นี่แหละ

ไม่มี 4 ฐานเกินจาก สัมมาสติที่เราจะได้ยินต่อไป คือ กาย  เวทนา  จิต  ธรรม

เราจะดูรายละเอียดของกาย เวทนา จิต ธรรม ก่อน

แล้วเดี๋ยวบอกว่า เวลาปฏิบัติ จะปฏิบัติอย่างไร

มาถึง มรรคองค์ที่ 7 นะครับ




( องค์มรรคที่ 7 )


กะตะมา จะ ภิกขะเว สัมมาสะติ,
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย, ความระลึกชอบ เป็นอย่างไรเล่า
อิธะ ภิกขะเว ภิกขุ, 
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้, 
กาเย กายา นุปัสสี วิหะระติ, 
ย่อมเป็นผู้พิจารณาเห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ,
อาตาปี สัมปะชาโน สะติมา, วิเนย ยะโลเก อะภิชฌาโทมะนัสสัง,
มีความเพียรเครื่องเผากิเลส, มีสัมปชัญญะ มีสติ, ถอนความพอใจ
และความไม่พอใจ ในโลกออกเสียได้,
เวทะนาสุ เวทะนานุปัสสี วิหะระติ, 
ย่อมเป็นผู้พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่เป็นประจำ, 
อาตาปี สัมปะชาโน สะติมา, วิเนย ยะโลเก อะภิชฌาโทมะนัสสัง, 
มีความเพียรเครื่องเผากิเลส, มีสัมปชัญญะ มีสติ, ถอนความพอใจ
และความไม่พอใจ ในโลกออกเสียได้, 
จิตเต จิตตานุปัสสี วิหะระติ, 
ย่อมเป็นผู้พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่เป็นประจำ,
อาตาปี สัมปะชาโน สะติมา, วิเนย ยะโลเก อะภิชฌาโทมะนัสสัง, 
มีความเพียรเครื่องเผากิเลส, มีสัมปชัญญะ มีสติ, ถอนความพอใจ
และความไม่พอใจ ในโลกออกเสียได้, 
ธัมเมสุ ธัมมานุปัสสี วิหะระติ,
ย่อมเป็นผู้พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่เป็นประจำ, 
อาตาปี สัมปะชาโน สะติมา, วิเนย ยะโลเก อะภิชฌาโทมะนัสสัง, 
มีความเพียรเครื่องเผากิเลส, มีสัมปชัญญะ มีสติ, ถอนความพอใจ
และความไม่พอใจ ในโลกออกเสียได้ 
อะยัง วุจจะติ ภิกขะเว สัมมาสะติ, 
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย, อันนี้เรากล่าวว่า ความระลึกชอบ


เป็นผู้พิจารณาเห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ  นะครับ




เป็นผู้มีความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส มีสติสัมปชัญญะ มีสติ

ถอดถอนความพอใจ และความไม่พอใจในโลกออกเสียได้

นี่แบ่งออกเป็น 2 ส่วน เรามาดูส่วนแรกก่อน เค้าบอกว่า

ผู้พิจารณา เห็นกายในกาย... อะไร คือ กายในกาย



เราได้ยินคำว่าว่า กายานุปัสนาสติปัฏฐาน

การตั้งสติพิจารณากายในกาย ให้เห็นความเป็นจริงว่า เป็นเพียงกาย ไม่ใช่ตัวตนบุคคลเราเขา




เอาล่ะ ถ้าเป็นนักปฏิบัติก็คงคุ้นเคยกับคำนี้

แต่ถ้าเป็นผู้ใหม่ ก็ให้ฟังคำว่า กายในกาย ไว้ก็พอแล้ว

ตั้งแต่เราพูดกันมาตั้งแต่วันแรก เราก็บอกแล้วว่า

ในความเป็นจริง กายนี้ไม่เคยเป็นของเรามาก่อน

เราเพียงแต่สร้างความรู้สึกลมๆแล้งๆขึ้นมา

ความรู้สึกนั้น  เข้าไปยึดว่ากายนี้ ว่าเป็นของเราขึ้นมาเฉยๆ

วิธีการที่จะให้เข้าใจความจริงเพื่อจะจัดการกับความรู้สึกลมๆแล้งๆนี้ให้ได้เนี่ยะ

อย่างที่เรายกตัวอย่างเรื่องนกกับต้นไม้  เราบอกนกเท่าไหร่ นกมันก็ไม่ยอมเชื่อ

ว่าต้นไม้ไม่ใช่มัน ไม่ใช่ของมัน

ทำยังไง อะไรกับต้นไม้ เป็นมะเร็ง เป็นไข้ เป็นอะไร ก็นั่งทุกข์เศร้าอยู่กับกาย

เพราะว่าไปยึดว่า กายนี้เป็นของเราอย่างเหนียวแน่น

ไม่มีทางที่จะเข้าใจได้ด้วยการเจรจา หรือพูด  หรือ ฟังแน่ๆ

จึงต้องเกิดการภาวนา หรือที่เรียกว่า ภาวนาภยปัญญา ถึงจะให้มันรู้แจ้งขึ้นมาเอง

ไม่มีทางที่ใครจะบอกใครได้  การที่จะให้เค้ารู้ได้

พระพุทธเ้จ้าตรัสว่า ต้องอาศัยการพิจารณา 6 ฐานนี้

1. คือ อิริยาบถ ให้สังเกตอิริยาบถไปเรื่อยๆ เหมือนเราบอกนกว่า

นก แกสังเกตตัวแกเดินไปเรื่อยๆนะ

แกบินไปบินมา หรือแกทำอะไรเนี่ย แล้วก็สังเกตต้นไม้ สังเกตนกเอาไว้

แล้วแกจะรู้เองว่า นกกับต้นไม้ไม่เกี่ยวกันเลย !!

อย่างนี้แหละ อันนี้เรายกตัวอย่างที่เรายกมา

แต่ความจริงตัวอย่างเรื่องนกกับต้นไม้ มันมีอะไรซับซ้อนกว่านั้นเยอะ

แต่มันทำให้คนเข้าใจในเบื้องต้นได้

ทีนี้ กลับมาที่เราจะมาพิจารณากายของเรา ก็อาศัยอิริยาบถ ในการเคลื่อนไปเคลื่อนมา

เข้าห้องน้ำ หยิบจับ เกิดสติสัมปชัญญะในระหว่างเคลื่อนไปเคลื่อนมา ในระหว่างที่อิริยาบถ

ก็เป็นไปได้ที่มันจะโพล่งขึ้นมาว่า ..เป็นแว๊บๆ แว๊บ ๆ

นักปฏิบัติหลายท่านก็ได้สัมผัสตรงนั้นอยู่แล้ว

ในส่วนของอาณาปานสติก็เช่นกัน  อาณาปานสติมีลึกถึง 16 ขั้น

ซึ่งก็แน่นอน สามารถทำให้เห็นได้ว่า กายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราเหมือนกัน

แต่ในอาณาปานสติเห็นลึกลงไปกว่านั้นอีก

เห็นว่า  เวทนา จิต ธรรม ด้วย

เพราะในอาณาปานสติเนี่ย จิตเดินผ่านฐานทั้ง 4 อยู่แล้ว

เพราะฉะนั้น อาณาปานสติอย่างเดียว ก็แทบจะเห็นหมดเลย

ส่วนสัมปชัญญะ  คือการสร้างสัมปชัญญะให้เกิดขึ้นในระหว่างเคลื่อนไหว

ก็คือ การที่ท่านไปเดินจงกรมนั่นแหละ  เหมือนกัน นะ

ส่วนอิริยาบทต่างจากเดินจงกรมยังไง มันก็คร่อมๆ กันอยู่

แต่อิริยาบทเป็นการ เข้าห้องน้ำ หยิบ จับ ถูสบู่ แต่งตัว ทุกอย่าง !!

ให้มีสติสัมปชัญญะแทรกเข้าไว้ แทรกเข้าไว้  มันจะเห็นความจริง

เพราะขณะที่  สติสัมปชัญญะแทรกเข้าไป แทรกเข้าไป

ความคิดลอยๆที่ท่านสร้างขึ้นมาว่า นี่คือ ของเรา  นี่คือเรา เนี่ย  มันจะหายไปตอนนั้นน่ะ

ขณะที่ท่านมีสติสัมปชัญญะอยู่เนี่ย ความคิดลอยๆที่ท่านสร้างขึ้นมาเองมันดับหายไป!!

เมื่อท่านเข้ามาอยู่ฝั่งนี้ จนชิน มันจะรู้สึกหลายแว๊บ ๆ

รู้สึกว่า เมื่อกี้ไม่มีเราแฮะ ! ก็จะไปมีอะไรล่ะ !

ท่านอยู่กับสมาธิมันก็ไปทำลาย มันก็ไปล้างตัวตนพวกนั้น ลงไปอยู่

โดยเฉพาะในฌานที่ 4 ถ้าเข้าไปถึงสมาธิในฌานที่ 4 อันนั้นไม่มีตัวตนเลย

มันจึงทำให้ผู้มีปัญญาเริ่มสังเกตเห็นว่า ในฌานที่ 4 ไม่มีตัวตน

พอออกมาจากฌานที่ 4 สมมุติว่ามีกลับมามีตัวตน จึงเทียบเคียงได้ทันทีเลย

จึงเกิดเทีียบเคียงได้เลย

 เอ๊ะ ! แสดงว่าตัวตนนี่ไม่ได้มีอยู่จริงนะ

ทำไมบางทีมี บางทีไม่มีล่ะ !

แสดงว่าเป็นความรู้สึก ความรู้สึกนึงที่ถูกสร้างขึ้นมาสิ

กายนี้มันเป็นของมันอยู่แล้ว แต่มีความรู้สึกหนึ่งที่ไปบอกว่า อันนี้เป็นของเรา

บางทีมันก็ดับไป บางทีมันก็มีอยู่

แสดงว่าไอ้นี่มันไม่มีอยู่จริง มันถึงได้โพล่งขึ้นมาไง !!

แสดงว่าต้องเข้าไปเบียดอยู่ในฝั่งเค้าเยอะๆหน่อย

เพราะตอนนี้ความเห็นผิดที่เป็นสัญชาติญาณที่สั่งสมมาเนี่ยมันเหนียวแน่น

มันจึงไม่เปลี่ยนกันง่า่ยๆ  เพราะฉะนั้นมันจึงต้องมีความเพียรในมรรคองค์ที่ 6

มาถึงมรรคองค์ที่ 7 พระพุทธเจ้าจึงทรงเห็นแล้วว่า จิตเป็นกุศลมากขึ้น จิตตั้งมั่นมากขึ้น

พร้อมที่จะเข้าไปเห็นฐานทั้ง 4 แล้วมันเกิดปัญญาขึ้นมาได้โดยลำดับ

ฐานแรกคือ กาย ก่อน    กายเป็นของหยาบๆ  เราเห็นไม่เห็นไม่รู้ล่ะ

แต่พระองค์ทรงตรัสว่า  แม้แต่คนนอกศาสนาก็ยังรู้ได้เลย ว่ากายนี้ไม่ใช่ของเรา

นี่เราปฏิบัติ เรายังไม่รู้เลย !

ท่านบอกว่า คนนอกศาสนาหรือที่เรียกว่า ปริพาชก ยังรู้ได้เลยว่า กายนี้ไม่ใช่ของเรา

แล้วก็ไม่ใช่เราด้วย แต่ปริพาชกหรือคนนอกศาสนาจะไม่มีทางรู้ได้ว่า "จิต ไม่ใช่เรา "

เพราะว่าจิตเกิดดับได้เร็วมาก

ถ้าไม่เจริญมรรคมีองค์ 8  ไม่มีวันที่จะถอดถอนความเห็นผิดในตัวจิตเอง

แต่ท่านบอกว่า กายไม่ใช่เราเนี่ย คนนอกศาสนารู้ได้ คนที่มีปัญญา สังเกตจริงๆนิดเดียวก็เห็นแล้ว

เพราะฉะนั้น สัมปชัญญะก็จะทำให้ท่านเข้าไปเห็นความจริงได้

ปฏิกูลมนสิการ หลายคนก็มีจริตสั่งสมมาทางนี้ ก็พิจารณาในส่วนที่ไม่สะอาด

ส่วนที่สกปรกที่เข้ามารวมกัน อย่างเช่น

เห็นภาพต่างๆ   เห็นเหมือนกับร่างกายเป็นเหมือนถุงขยะ อย่างนี้  มีขยะเต็มไปหมด

เป็นของที่ท่านสวดธาตุปัจจเวกกันนั่นแหละ

หรือการเข้ามารวมกันของธาตุทั้ง 4   ของดิน น้ำ ไฟ ลม

แล้วก็มีอากาศธาตุ วิญญาณธาตุ เข้ามาครองสิง

บางคนพิจารณามาอย่างนี้ อย่างนี้ หรือว่าสั่งสม มาทางด้านนี้

ก็ไปเห็นเรื่องของความเป็นธาตุได้ง่าย

เนื่องจากว่าจริตของคนที่สั่งสมมาจากอดีต ......หลากหลาย

อุปนิสัยของหลายคนสั่งสมมา อินทรีย์หลากหลาย เหลือเกิน

ดังนั้น บางคนก็อาจจะไปโดนแบบนึง หรือโดน 2 แบบ หรือโดน 3 แบบ หรือโดน 6 แบบเลยก็ตาม

บางคนพิจารณา ซากศพ รู้สึกว่าโอ๊ยยย มันสลดใจ

มันถอด มันปล่อยวางความเป็นตัวตนของเราลงไปได้ง่ายดาย

บางคนก็บอกว่า โอยยย  พิจารณาแล้ว พิจารณาอีก มันก็ยังเกิดราคะอยู่ไม่หยุด

อันนี้ก็อาจจะไปถูกกับจริตอย่างอื่น ก็ว่ากันไป นะ....

ไม่งั้นพระพุทธเจ้าจะให้มา 6 ทำไม ถ้าอันไหนดีที่สุด  ก็เอาไป 1 สิ

ไม่มีอะไรดีที่สุดสำหรับทุกคนหรอก  มันมีดีที่สุดสำหรับคนๆนั้น เท่านั้นเอง

แล้วดีที่สุดสำหรับคนๆนั้น ก็ไม่จำเป็นจะต้องดีที่สุดสำหรับอีกคน เหมือนกับอีกคน ก็ปล่าว!!

เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่เราจะต้องไปศึกษาดู

อันนี้ก็ต้องเป็นเรื่องที่ต้องไปศึกษากันเอาเอง ว่า จริตของใครเป็นยังไง

พิจารณาโดยความเป็นซากศพ  ซากศพ ก็มีแต่ละระยะ ๆ 10 ระยะ นะ

ตั้งแต่ เริ่มต้นตาย จนกระทั่งพอง น้ำหนองไหล จนกระทั่งแหลกเหลว  จนแตกออก จนอะไร

หากใครพิจารณาไป ๆ จนเห็นความจริง มันก็เลยเบื่อหน่ายคลายความยึดถือ

มันก็......ก็ปล่อยความเป็นตัวตนลงได้

เพราะฉะนั้นใน 6 วิธีนี้ จะทำให้เห็นกายในกาย ทำไมต้องกายในกาย

เพราะว่าเราหลงในบัญญัติของกาย  ปกติเราเห็นว่ากายเป็นของใครล่ะ ยอมรับมั๊ยล่ะ ?

เราก็รู้สึกว่านี่้มันก็เป็นของเราน่ะ  นี่มันกายเราน่ะ

เกิดอะไรขึ้น..แมลงสัตว์กัดต่อย หรือว่า สิวขึ้น หรือเกิดเป็นโรคร้าย

ทุกข์ทั้งนั้นแหละ  เพราะเรารู้สึกว่ามันเป็นของเรา!!

 จะทำยังไงถึงจะเห็นกายในกาย

ให้เห็น  คล้ายๆมันเป็นภาพเชิงซ้อนน่ะ ว่ากายนี่ไม่ใช่ของเรา

มันเป็นกายน่ะ ที่มันเกิดขึ้นมา โดยเหตุปัจจัยของมัน

ภาพเชิงซ้อนเนี่ย ที่เรียกกายในกาย

คล้ายๆเอา กระดาษพิมพ์เขียวมาซ้อน

อย่างใครพิจารณาซากศพเนี่ย เห็นเป็นโครงกระดูกซ้อนไปเนี่ย

บางคนก็เห็นร่างกายตัวเองเป็นโครงกระดูกเนี่ย ก็เรียก เห็นกายในกาย  แบบเดียวกัน

เอาล่ะ นะครับ เรามาถึงฐานที่ 2 ก็คือ เวทนา




ก็มาถึงฐานที่ 2 คือ ฐานของ เวทนา

ย่อมเป็นผู้เห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่เป็นประจำ

ส่วนประโยคล่าง เดี๋ยวเราค่อยไปคุยกันทีหลัง

เรามาดูก่อนว่า เวทนาในเวทนาคืออะไร



ฐานที่ 2 ก็คือ เวทนานุปัสสนาสติปัฐฐาน นะครับ เป็นฐานที่จิตจะเข้าไปตั้งอยู่

เรามาดูความหมายของเวทนา

การตั้งสติพิจารณาเวทนาในเวทนา ให้เห็นความเป็นจริงว่า

เป็นเพียงเวทนาไม่ใช่ ตัวตน บุคคลเราเขา

เรามักจะได้ยินคำนี้บ่อยๆนะ  ไม่ใช่ตัวตนบุคคลเราเขา

บางคนก็สงสัยว่า ใครน๊อ จะไปเห็นเวทนา ซึ่งเป็นความรู้สึกเป็นตัวตนบุคคลเราเขา ขึ้นมาได้

ท่านนั่งสมาธิมานี่ เป็นวันที่ 3 แล้ว มีบัลลังค์ไหนสงบมั๊ยครับ ?

มี !!  มันต้องมีบ้างแหละ...  หรือว่าไม่มีเลย ( หัวเราะ )....มันต้องมีบ้างนะ

แล้วบัลลังค์ไม่สงบมีมั๊ย ? มี !! มันก็มี  โอ้โห .. ฟุ้งทั้งบัลลังค์ก็มี

แต่บางทีแหม มันมันนิ่งสงบมันก็มี

เคยรู้สึกมั๊ยว่้า บัลลังค์ที่สงบเนี่ย แล้วก็ออกไปเดินจงกรม

แล้วก็มานั่ง บัลลังค์ต่อไป  แล้วมันก็ฟุ้งเนี่ย !..

" อืมมม ทำไมมันไม่สงบเหมือนเมื่อกี้นะ ? " " ทำอะไรผิดรึปล่าว ?"

นี่เริ่มแล้ว มันก็จะเริ่มรู้สึกอย่างนี้ไปเรื่อยๆ

ผมถามจริงๆว่า เมื่อเิกิดความสงบ  มันก็เกิดความสุข...สุขสงบน่ะ

มันก็ .. แนบๆกันอย่างนั้นแหละ  เราก็อยากได้ความสุขความสงบอย่างนั้นอีก

เราเริ่มเห็นเวทนาเป็นตัวตนแล้ว ....

แล้วบางคนก็ "  โอยย ทำมาตั้งหลายทีแล้ว ทำไมมันไม่ได้เหมือนเดิมซักที "

" ตอนนั้น ทำได้ดีจังเลย ตอนนี้ทำไมทำไม่ได้แล้วล่ะ ? "

เอาแล้ว ท่านไม่รู้ตัวหรอก ว่าท่านเห็นเวทนาเป็นตัวตนไปเรียบร้อยแล้ว

ท่านไม่เห็นเวทนามันเกิดๆ ดับๆ เหรอ

เวทนามันเกิดๆดับๆตลอดเวลานะ มันสุข ๆ ทุกข์ ๆ  ทุกข์ๆ สุขๆ  เดี๋ยวก็เฉยๆ

เฉยๆ เดี๋ยวก็ทุกข์ ๆ  ทุกข์ๆ เดี๋ยวก็สุขๆ เดี๋ยวก็ เฉยๆ

ไม่เห็นมันเกิด - ดับ เหรอ ?

ถ้าบอกว่าเห็น อ้าว !  แล้วจะให้มันอยู่ค้างไว้อย่างนั้นเหรอ

นี่แหละ ! เราปฏิบัติไป เราสวดไป  ปากเราก็ท่องไปอย่างนั้นแหละ

แต่ของจริงเราไม่รู้ว่ามันคืออะไร

แล้วมันก็เกิดอยู่อย่างนั้น แล้วเราก็โหยหาแต่ความสุข

แล้วในชีวิตจริงเป็นอย่างไรล่ะ

โหยหาความสุขที่จะได้จากลูก จากสามี  จากภรรยาจากคนรอบข้าง  จากงานที่ทำ

อยากให้มันถาวร  เนี่ยเหรอ !! มาปฏิบัติธรรม

อยากจะให้ทุกอย่างได้สุขดังใจตลอดเวลา

มาปฏิบัติเพื่อให้ทุกอย่างมันมีความสุขดังใจ

เพราะมันจะได้บุญไง พอได้บุญแล้ว ทุกอย่างมันจะได้คาอยู่ในฝั่งความสุขเยอะๆ

เพราะมันเป็นบุญกุศลที่ไปช่วย

ชีวิตของเราพลีชีพให้กับความสุขอย่างเดียวนะ วันนี้    

ทุกคนยอมเหนื่อยทั้งชีวิตเลยน่ะ จนตายไปเลยน่ะ เพื่อให้ได้เงิน

ให้ได้เงินมาเพื่อซื้อความสุข เราไปหลงอยู่ในเหยื่อของกามสุขเนี่ย

เราไม่เคยเห็นมันตามความเป็นจริงเลย  วันนี้ ถึงต้องกลับมาเห็นตามความเป็นจริง

เพื่อให้ถอดถอนความหลงผิดอันนั้นให้ได้

มันไม่ได้มีอะไรน่ะ !  นอกจากของเกิดดับน่ะ !

คือ มีสติ พร้อมด้วยความรู้ชัด

เวทนาอันเป็นสุขก็ดี  เป็นทุกข์ก็ดี ไม่สุขไม่ทุกข์ ก็ดี คือ กลางๆ

ทั้งที่เป็นสามิส และ นิรามิส ตามที่เป็นอยู่ในขณะนั้นๆ

ว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย

ไม่ใช่ตัวตนบุคคลเราเขา อย่าไปสร้างมันขึ้นมา

มันเกิดขึ้นเพราะมีเหตุ หมดไปก็หมดเหตุ  เหตุหมด มันก็จบไป

เห็นแต่การเกิดขึ้น ดับไปของเวทนา ของเวทนา นั่งสมาธิ เดินจงกรม ก็ ..

เดี๋ยวก็เห็นความสุข  เดี๋ยวก็เห็นความทุกข์  เห็นมันเกิดขึ้น มันก็ดับไป

ไม่เห็นมีอะไรอยู่คงที่ เนี่ย อย่างนี้เรียกว่า เห็นความจริงแล้วจะไม่เข้าไปยึดถือเวทนาอีก

ไม่อย่างนั้น ปากก็พูดไปอย่างนั้นน่ะ แต่ของจริงไม่เห็นอะไรเลย

มันต้องวกกลับเข้ามาเห็นให้ได้

แล้วต้องเห็นให้ได้มากจนกระทั่งถอดถอนความเห็นผิดนะ

ส่วนสามิส นิรามิสอะไรพวกนี้ ท่านหมายถึงว่า

สุขบางอย่าง ก็ต้องมีเหยื่อล่อ   สุขบางอย่าง ก็ไม่มีเหยื่อล่อ

เช่น ใครอยากได้กระเป๋าแล้วมีความสุข อันนี้ก็มีเหยื่อล่อ

ส่วนสุขที่ไม่มีเหยื่อล่อ เหตุปัจจัยถึงพร้อม เช่น นั่งสมาธิ มีความสุขผุดขึ้นมา อย่างนี้

สุขอย่างนี้ไม่ต้องมีเหยื่อล่อ เป็นนิรามิส  นิรามิสสุข

เพราะฉะนั้น การปฏิบัติ เห็นกายในกาย ให้เห็นเวทนาในเวทนา

จะถอดถอนความเห็นผิดลงได้ ก็เห็นว่า เวทนาก็ไม่ได้มีตัวตน เกิดๆ ดับๆ

มีเหตุปัจจัยให้เกิด ก็เกิด   หมดเหตุก็ดับ ของมันมีอยู่แค่นี้เอง

จนกระทั่งคลายความยึดถือลง

หลังจากนั้น มาดูจิตในจิต  ... ย่อมเป็นผู้พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่เป็นประจำ




เอาล่ะ เรามาดูซิว่า การพิจารณาเห็นจิตในจิต คืออะไร

ตัวนี้ ค่อนข้างสร้างความสับสนพอสมควรเลย สำหรับนักปฏิบัติ

จิตตานุปัสนาสติปัฏฐานฐาน  การตั้งสติพิจารณาจิตในจิต

ให้เห็นความเป็นจริงว่า เป็นเพียงจิต ไม่ใช่ตัวตน บุคคลเราเขา

เช่นกัน !! เวลาเราก็ฟังแต่คำเนี้ยะ ...ฟังจนรู้สึกเหมือนกับ จะเบื่อๆ

แต่ความเป็นจริง เราไม่เห็นความเป็นจริงตามนี้เลย

ปากเราก็พูดไปอย่างนั้น แต่เราไม่เห็น

จะเห็นจิตในจิตได้ยังไง

พระพุทธเจ้าบอกให้สังเกตอาการของจิต 16 ประการ

แค่ 16 นะ ท่านระบุเอาไว้เลย ไม่เกินนี้

จิตมีราคะ   จิตไม่มีราคะ

จิตมีโทสะ  จิตไม่มีโทสะ

จิตมีโมหะ  จิตไม่มีโมหะ

จิตเศร้าหมองหดหู่  จิตฟุ้งซ่าน

จิตเข้าถึงความเป็นจิตใหญ่ จิตไม่ถึงความเป็นจิตใหญ่

จิตยังมีจิตอื่นที่ยิ่งกว่า  จิตไม่มีจิตอื่นที่ยิ่งกว่า

จิตตั้งมั่น  จิตยังไม่ตั้งมั่น

จิตหลุดพ้น  จิตยังไม่หลุดพ้น

เพราะฉะนั้น การเข้าไปดูจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

พระพุทธเจ้าระบุไว้เลย  16 อย่างนี้เท่านั้น

เอาล่ะ  ผมจะยกตัวอย่างซักคู่นึง

จิตมีโทสะ จิตไม่มีโทสะ

เพราะมันเริ่มสับสนใจการปฏิบัติ เราไปตีค่าคำว่า โทสะ คือ อาการโกรธ

แล้วเดี๋ยวเราจะไปชนกับ สัมมาวายามะ คือท่านบอกให้ละอกุศล

หากท่านนั่งสมาธิ มีคนลืมปิดโทรศัพท์ รึคนตั้งนาฬิกาปลุกเอาไว้ ดังขึ้นมา ตื๊ดดด ขึ้นมา

โทสะ หงุดหงิดปื๊ดดดด ตามขึ้นมาเลยเนี่ย ตอนนั้นท่านต้องทำยังไง

ท่านต้องใช้สัมมาวายามะ คือ ละอกุศลออกให้เร็วๆ แล้วก็เจริญกุศล

หรือท่านจะเข้าไปดูว่า ตอนนั้น จิตมีโทสะ

ตรงนี้แหละ ที่คนบอกว่า นี่ชั้นเข้าไปรู้โกรธแล้วนะ

กำลังทำจิตตานุปัสนาสติปัฏฐานอยู่

ผมบอกว่า ผิด !!!   คุณเข้าใจผิดแล้ว คุณจะรู้ได้ว่า จิตของคุณมีโทสะ

คุณต้องตั้งมั่นสุดๆเลยนะ   คุณถึงจะเห็นว่าจิตคุณมีโทสะ

แต่ขณะที่คุณกำลังโกรธเพราะเสียงโทรศัพท์ที่ดังเมื่อซักครู่นี้เนี่ยะ

คุณโดดลงไปเป็นโกรธแล้วนะ  ถ้าคุณวกกลับมาดูจิตตอนนั้นนะ

ตอนนั้นเนี่ยะ  จิตของคุณไม่ได้ตั้งมั่นที่จะเห็นโทสะนะ

คุณกลายเป็นโกรธนะ  ตอนนั้นคุณกลายเป็นสัญโญคะ คือ ผูกติดกับอารมณ์นะ

คุณไม่มีสติแล้วนะ    สติของคุณหมดเรียบร้อยไปแล้ว คุณกระโดดลงน้ำไปแล้ว

คำว่า จิตมีโทสะ คือ คนๆนั้นต้องนั่งอยู่บนฝั่ง แล้วเห็นน้ำำไหลนะ

แล้วก็เห็นผักตบชวา อุปมาว่า โทสะเป็น ผักตบชวา

คุณนั่งอยู่บนฝั่ง แล้วคุณเห็นผักตบชวา คุณถึงจะรู้จักผักตบชวานะ

แต่ถ้าคุณลงไปขลุกขลิกๆ อยู่กับผักตบชวา คุณไม่เห็นมันนะ

คุณกลายเป็นมันนะ

แล้วคุณจะโกรธซ้อนขึ้นมาอีก ว่านี่้ชั้นรู้โกรธแล้วทำไมโกรธมันไม่ดับ

รู้ให้ตายก็ไม่มีดับหรอก อาการเนี่ยะ !  อาการของจิตพวกนี้ มันเกิดดับตาม....

เหมือนฟองก๊าซน่ะ ที่ผุดขึ้นมาไม่มีวันหยุด

เพราะฉะนั้น ถ้าทำอย่างนี้ ผิดเลยนะ แล้วหลายคนก็เข้าใจผิดด้วย

นี่ไง !! ก็ทำตามนี้ไง !!  จิตมีโทสะ ก็เข้าไปรู้ อย่างนี้เค้าไม่เรียกว่ารู้

ถ้้ามีสติที่จะเรียกว่า มีจิตตานุปัสนาสติปัฏฐานเนี่ย จิตต้องตั้งมั่นที่เห็นว่า โทสะกำลังเกิดขึ้น

เหมือนกรรมการคนนอกมองเข้ามา ไม่ใช่ดูแบบแม่ดูลูก  ลูกดูแม่ กันแบบนี้

นี่แหละ ที่คนเค้าไม่เข้าใจ แล้วก็ปฏิบัติแล้วก็ขลุกขลักๆ กันอยู่อย่างนี้

เดินจงกรม... จิตก็ไม่ตั้งมั่น ก็กลายเป็นกูดูของกูกันอยู่อย่างนี้แหละ

กู ดูขากู  แต่เค้าก็ไม่รู้จะทำยังไง เพราะว่าอย่างที่ผมบอก

คนอยู่กับการปรุงแต่ง  คนอยู่กับความไม่ตั้งมั่น จนไม่รู้ว่า ความไม่ตั้งมั่นคืออะไร

จนกว่า ... นั่งสมาธิ แล้วก็นั่ง ๆ ๆ ๆ ปวดขา แล้วก็คร่ำครวญ

"โอยย ปวด ทำไมยังไม่ถึงเวลาที่ตั้งไว้ซะที  อดทน !! รู้ลมไว้ สู้ สู้ ไงก็แล้วแต่นะ ปวดขาจัง

ปวดแล้ว จนกระทั่งมันถึงจุดๆหนึ่ง มันปล่อยพลั๊วะ !!!!

  ฮึ ความปวดไปไหน ?

จิตมันเริ่ม.... มันปล่อยตัวเองหลุดออกมา

มันเริ่มตั้งมั่นขึ้นโดยลำดับ แล้วหลังจากนั้น จะเริ่มเห็นอะไรต่อมิอะไรชัดขึ้น   !!

แต่ถ้ากำลังขลุกไปขลุกมานี่ ไม่เห็นหรอก ไม่เห็น

เพราะฉะนั้น ถ้าอย่างนั้นต้องทำสัมมาวายามะ  คือ ละอกุศล และเจริญกุศล

ตรงนี้เป็นหน้าที่ของผู้ที่ตั้งมั่นแล้วเห็นความจริง

ถ้าเค้าเห็นอย่างนี้ เค้าจะรู้ได้เลยว่า จิตไม่ใช่ตัวตนบุคคลเราเขา

โทสะเองเป็นแขกจร นี่ ถึงจะเกิดปัญญาที่จิต

แต่ถ้าสอนผิด ทำผิด จิตก็เรียนรู้แบบผิดๆ ก็ไปสร้างตัวตนในรู้

ว่า โอ... นี่รู้แล้วนะว่าโกรธเป็นอย่างนี้

เรียบร้อยเลยงั้น ....ไปยาวล่ะ

ส่วนคำือื่นๆ ก็น่าจะเข้าใจไม่ยากนะครับ ก็ทำนองเดียวกัน

จิตฟุ้งซ่าน . . . ไม่ใช่เราฟุ้งซ่านนะ !!!

ไม่ใช่เรากำลังฟุ้งซ่าน ก็เลยเข้าไปดูจิต

ถ้าเราฟุ้งซ่าน แล้วเราเข้าไปดูเรา นี่ก็จบเห่ เหมือนกัน

แต่ถ้าจิตตั้งมั่นอยู่ในฌานเนี่ย  ท่านนั่งแล้ว โอ..เห็นจิตฟุ้งซ่าน มันคิดไม่หยุดเลย

มันเห็นเหมือนกับคนอื่่นคิดนะ ไม่ใช่เราคิด

เราไม่ได้หงุดหงิดกับความฟุ้งซ่านนั้นเลยน่ะ  เห็นว่าจิตฟุ้งซ่าน ไม่ใช่เราฟุ้งซ่าน

อย่างเนี้ยะ มันถึงจะเห็นความจริงน่ะ มันต้องตั้งมั่นอย่างนี้ !!

มันเป็นเรื่องของนามธรรมที่ไม่รู้จะอธิบายยังไง ท่านก็ต้องไปหาเอาเองแล้วล่ะ

ว่ามันคืออะไร  แต่ก็ต้องพยายามอธิบายให้เห็นความต่างก่อน

ไม่อย่างนั้น ใครที่บอกว่า ดูจิต ดูจิตน่ะ ผมเข้าใจ ว่าท่านหมายถึงอะไร

เพราะมีหนังสืออยู่เล่มนึง ... ชื่อดูจิตหนึ่งพรรษาเหมือนกัน

ผมก็ทำเป็น (หัวเราะ หึหึ ) เดี๋ยวนี้ผมไม่ทำแล้ว ( หัวเราะ )

ไอ้อย่างนั้นน่ะ ทำมาเยอะแล้ว ทำมาเยอะแล้ว

แต่อยากจะบอกว่าพระพุทธเจ้า สอนอะไรแล้ววันนี้ !

จิตหลุดพ้น จิตไม่หลุดพ้น....ทำไมถึงรู้ ?

ก็นั่นหล่ะ อันนี้ไม่ใช่เรื่องของเราแล้ว ( หัวเราะ...) บอกให้ ไม่ใช่เรื่องของเราแล้ว

เรื่องของผู้ที่ต้องเห็นเลยว่า หลุดพ้นเป็นยังไง

ถึงรู้ว่าตรงไหนไม่หลุดพ้น    ถึงรู้ว่าอะไรหลุดพ้น

จิตตั้งมั่น จิตไม่ตั้งมั่น วันนี้ พูดกันให้ตาย

คนที่จิตตั้งมั่นแล้ว ก็นั่งยิ้ม  เพราะรู้ว่าจิตตั้งมั่นคืออะไร

แต่คนไม่ตั้งมั่น ...อะไร จิตตั้งมั่น ???  ตั้งมั่นยังไง ?? ก็อยู่อย่างเนี้่ย

แต่พอวันนึง ปึ้ง !! ขึ้นมา ตั้งมั่นขึ้นมา ....โธ่เอ๊ยยย .. ก็อย่างเนี้ยะ แล้วทำไง ?

มันเหมือนคนหัดขี่จักรยานเป็น แล้วก็หัดสอนคนอื่นขี่จักรยาน มันก็เหมือนๆกัน

ถีบขึ้นมาเลย ถีบขึ้นเลย .... ถีบก็ล้มสิ ! ล้อข้างก็ไม่มี

พอวันมันไหนขี่เป็น ก็ปัดโธ่เอ๊ย ! แค่นี้เองเหรอ ?

ก็ใช่ ก็วันนั้นก็บอกให้ถีบขึ้นลง เออจริงด้วย แต่ทำไมวันนั้นทำไมถีบแล้วมันล้มเลยล่ะ ?

ก็อย่างนี้แหละ มันก็ไม่รู้ว่าไง พอเป็นแล้วมันก็เป็น...

แล้วทำยังไงมันถึงจะเป็นล่ะ ?

ก็ทำบ่อยๆ ทำบ่อยๆ ทำไม่หยุด ทำบ่อยๆ ทำไม่หยุด ทำไมมันจะไม่เป็น

ก็เหมือนเด็กขี่จักรยาน ยังไงๆ ก็ต้องเป็น

เอาล่ะครับ  คงเท่านี้ก่อน อย่างอื่นเช่น จิตใหญ่ อะไรอย่างนี้

ก็  อธิบายยังไง เรื่องของนามธรรม แต่สักวันหนึ่งคงเข้าใจกันได้

จิตตั้งมั่น  จิตใหญ่ จิตไม่มีสิ่งอื่นยิ่งกว่า  ก็แสดงว่าคนๆนั้นถึงที่สุดไปแล้วล่ะนะ

จิตคืนสู่ธรรมชาติแล้ว  หรือที่เรียกว่า จิตเดิมแท้

พอท่านทั้งหลายถึงตรงนั้นแล้ว ก็รู้แล้วว่ามันไม่มีที่สุดกว่านี้แล้ว

ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว  ก็จบแล้ว

ก็รู้แล้วจิตอันไหนถึง อันไหนไม่ถึง

อธิบายตอนนี้มันก็ไม่มีใครเข้าใจ

ความระลึกชอบ ในหมวดสุดท้ายนะครับ  7.4






เป็นผู้พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่เป็นประจำ

เอาล่ะ เรามาดูกันว่า ธรรมในธรรมคืออะไร




























ธรรมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน 

การตั้งสติพิจารณาธรรมในธรรมให้เห็นความเป็นจริงว่า

เป็นเพียงธรรมารมณ์ ไม่ใช่บุคคล ตัวตน เรา  เขา

แหม คำๆนี้เราก็ได้ยินบ่อยเหลือเิกินนะ

เพราะความเป็นจริงมันคืออย่างนั้นน่ะ  ไม่ใช่ คิดให้มันเป็นอย่างนั้น

ไม่ใช่มาทำความคิดให้เป็นอย่างนั้น

เพราะว่า พระพุทธเจ้าบอกว่ามันไม่ใช่ตัวตนบุคคลเราเขา

เราก็เลยต้องพยายามทำความเข้าใจ ทำความคิดให้มันเป็นอย่างนั้น ... ไม่ใช่ !!

มันไม่เคยมีตัวตนบุคคลเราเขาอยู่แล้ว

เพียงแต่ทำยังไงให้เราเห็นความจริง เหมือนเราเข้าใจว่าโลกใบนี้แบน

ท่านก็บอกว่าโลกใบนี้กลม เราก็เถียงว่า โลกใบนี้แบน ท่านก็บอกว่า เอ้า สังเกตดูแล้วกัน

จนกระทั่งวันนึงเรารู้ว่า โอ้ย ... โลกใบนี้กลมนี่ !

ใช่ มันไม่ใช่ว่าจะต้องทำความเห็นให้เหมือนกับท่าน

ท่านเห็นความจริงไปแล้ว  แต่จะทำยังไงให้เราเห็นความจริง

พอเราเห็นความจริงโพล่งขึ้นมาว่า อ๋อ โลกใบนี้กลม  เห็นแล้ว ..ก็เท่านั้นเอง

เราไม่ได้ทำความแบนให้มันเป็นกลม

มันกลมของมันอยู่แล้ว  เราเข้าใจผิด เราเข้าใจผิดเฉยๆเลยล่ะ

ท่านพูดเท่าไหร่เราก็ไม่เชื่อ เหมือนนกกับต้นไม้

เราไปบอกนกว่า ต้นไม้่ไม่่ใช่ของมัน มันก็ไม่เชื่อ  จนกว่ามันจะเห็นเอง

แล้วต้นไม้ก็ไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิมว่า เอาละนะ แกเข้าใจแล้วใช่มั๊ย

ชั้นจะได้เป็นของชั้นอย่างนี้ซะที  ...ไม่ !!

มันเป็นของมันอยู่อย่างนี้ มันไม่เคยเป็นของนก

นี่มันเป็นของมันอยู่อย่างนี้ มันไม่เคยเป็นของเรา

เราขี้ตู่ (หึ หึ ) เราขี้ตู่

เราไปขโมยธรรมชาติมาเป็นของเรา ไปซ่อนความเป็นตัวตนเป็นตัวตน

เป็นเจ้าของของธรรมชาติเฉยๆ

อะไรคือ ธรรมมารมณ์

แยกออกมาเป็น 2 คำเลย ก็น่าจะเป็น ธรรม กับ อารมณ์

เมื่อเข้ามารวมสมาสกัน ก็เข้ามาเป็นธรรมารมณ์

ธรรมตัวนี้ ไม่ใช่ธรรมะ  ไม่ใช่ธรรมะในฝ่ายกุศล

แต่ธรรมารมณ์ คือ สิ่งทั้งปวง หรือ อารมณ์ทั้งปวง

ไม่ว่าจะเป็นกุศล หรืออกุศลก็ตาม  ที่เกิดขึ้น จากการกระทบใดๆ

ล้วนเกิดขึ้นแล้วดับไปตามเหตุปัจจัยเฉยๆ ไม่ได้เป็นตัวตนอะไร

สังเกตทุกอย่างเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

ไม่ว่าจะเรื่องดี เรื่องไม่ดี เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

จนกระทั่งมันเห็นว่า ไม่มีอะไรน่ายึดถือเลย ยึดถือไปก็มีแต่ความทุกข์

มีใครมาชมก็เกิดเป็นอารมณ์เฟื่้องฟูขึ้นมา ฟูพองๆ ชอบเหลือเกินมีคนนั้นมาชม

สุดท้ายมันก็หายไปในที่สุด

สมมุติแต่งตัวสวยๆเดินเข้าไปในออฟฟิต คนนั้นก็ชม  คนนี้ก็ชม

แต่เราสังเกตดูธรรมารมณ์ เกิดขึ้นก็ดับไป คนที่ 2 เกิดขึ้นก็ดับไป

คนที่ 3 ก็เกิดขึ้น ก็ดับไป มันก็เกิดน้อยลงๆๆ

จนคนที่ 10 ชม ทำท่าจะรู้สึกเฉยๆ อย่างที่ท่านบอกน่ะ มันชมกันมาตลอดทาง ก็เฉยๆแล้ว

ถ้าเป็นผู้มีปัญญาก็เห็นเลย ว่า อารมณ์ต่างๆเหล่านี้เกิดขึ้นดับไป

มีบ้าง ไม่มีบ้าง  มากบ้าง น้อยบ้าง

การกระทบจะไปยึดถืออะไรกับของที่มันเกิดดับ ไม่มีตัวตนเลย

เรานี่บ้าจริง เมื่อก่อน นั่ง ชอบ เพ้อ......ของไม่มีตัวตนทั้งนั้นเลย

นี่น่ะเหรอ  มันต้องเห็นความจริงอย่างนี้แหละ

ปฏิบัติแล้วต้องเห็นความจริงอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้



















ดังนั้น สติปัฏฐาน4 เราก็มาดูสรุปกันอีกซักครั้งนึง นะครับ

ก็แบ่งเป็น 4 ฐาน เพราะจิตก็ท่องเที่ยวไปใน 4 ฐานนี้แหละ

จิตไม่ได้ท่องเที่ยวไปมากกว่านี้ เรานั่งสังเกต เรานั่้งสมาธิ

เรานั่งสังเกตดูก็ได้ ว่าจิตมันก็ท่องเที่ยวอยู่แค่ 4 ฐานนี้แหละ

ไม่มีฐานที่ 5 แน่นอน ( หัวเราะ ) พระพุทธเจ้าตรัสไว้เลย

มีอยู่แค่ 4 ฐานนี่แหละที่จิตมันไปท่องเที่ยว

ไอ้เรายังออกประเทศนั้นประเทศนี้ ประเทศโน้น

แต่ไม่ว่าๆจะเหยียบประเทศไหนๆ  จิตก็ท่องเที่ยวอยู่แค่ 4 ฐานนี่แหละ

ไปเหยียบแผ่นดิน ไปเที่ยว...สมมุติเราไปเที่ยวยุโรป

โอ๊ย มีความสุขจังเลย จิตก็ไปท่องเที่ยวอยู่ในเวทนา ฐานเวทนา

เดี๋ยวๆ โอยย หิวข้าวจังเลย ทำไมยังไม่ได้กินข้าว

เอ้า ! จิตก็ท่องเที่ยวอยู่ในทุกขเวทนาแล้ว

มันก็มีอยู่แค่นี้ เดี๋ยวก็เกิดอารมณ์ขึ้นมา เอ้า ! จิตก็ไปท่องเที่ยวอยู่ในฐานของธรรมารมณ์

วนไปเวียนมาอยู่ใน 4 ฐานนี้จนมาเห็นความจริงที่ว่า มีแต่ของเกิดดับ ไม่มีตัวตนเลย

แล้ววันข้างหน้า ก็จะเลิกปล่อยความยึดถือ

แล้วในการท่องเที่ยวอยู่ใน 4 ฐานเนี่ย

มันจะทำให้ไปเห็นความจริงในส่วนอื่นๆของขันธ์ 5 ด้วย

เพราะในขันธ์ 5 หลายตัวเลยที่มาทับกันอยู่ในนี้

ก็จึงไปเข้าใจขันธ์ 5 พ่วงเข้าไปอีกในอนาคตเพื่อย้อนกลับเข้าไปสู่สัมมาทิฏฐิ

ที่จะปล่อยวางความยึดถือในขันธ์ 5 ได้ด้วย

ดังนั้น สติปัฏฐาน 4 จึงค่อนข้างสำคัญมากเลย

ที่จะเป็นกุญแจ ที่จะเป็นกุญแจไขออกจากโลกของโลกียะนี่แหล่ะ

แต่อย่าลืมว่า สัมมาสติ จะสำคัญแค่ไหนก็ตาม

สัมมาสติจะทำงานได้กระพร่องกระแพร่งมากเลย ถ้าสัมมาวายามะไม่เต็ม

ถ้าจิตยังเต็มไปด้วยอกุศลน่ะ ครึ่งๆ กันเลยนะ

ยากมากที่ท่านจะไปท่องเที่ยวในฐานทั้ง 4 แล้วเห็นความจริง

เพราะอกุศลมันจะรบกวนตลอด

การเข้าสู่ปฐมฌาน ฌานที่ 2 3 4 แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

ทำไมนั่งถึงไม่สงบเลย?

เดี๋ยวท่านไปเห็นในสัมมาสมาธิ มรรคองค์ที่ 8

ท่านจะกลับมาสังเกตดูว่า โอ้โห! ทำไมจิตของฉันถึงไม่เดินไปอย่างนี้เลย

แล้วเดี๋ยวจะมีคำตอบอยู่ในสัมมาสมาธิอีก




จากนี้เรามาดูกันต่อนะครับ

เพราะว่าในทุกประโยคเราจะเห็นคำ

มีคำว่า มีความเพียรเครื่องเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ

ถอนความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้

ในทุกประโยคเลยที่เราสวดผ่านมา  เราจะมาแยกดูเป็นคำๆ

ทำไมการสาธยายมรรคมีองค์ 8 ผมถึงต้องให้ท่านสวด

ให้ท่านสวดเอง ท่านเห็นเอง   ท่านเห็นเลยพระพุทธเจ้าตรัสว่าไงบ้าง...

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความพากเพียรชอบเป็นอย่างไรเล่า

ท่านสวดเอง แล้วท่านบอกว่ายังไงบ้างน่ะ... ความพากเพียรชอบคืออะไร

ท่านสวดจากปากท่านเอง ท่านไม่ได้มาฟังนายประเสริฐนะ

หน้าที่ของผมเพียงสาธยายเฉยๆ

มาทำให้ท่านเข้าใจคำของพระพุทธเจ้าได้ง่ายขึ้นเท่านั้นเอง

ถ้าอยู่ๆ ผมเอาอริยมรรคมีองค์ 8 แล้วก็พูด พูด อย่างที่ผมอยากจะพูด

ผมว่าไม่ค่อยน่าฟังอ่ะ

ถ้าเป็นผม ผมอยากฟังว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้สิ่งที่ยิ่งใหญ่เนี่ย พระองค์ตรัสว่ายังไงต่างหาก

ถ้าผมไม่เข้าใจ เอาล่ะ มีคนมาช่วยแปล โอเค ก็เหมือนกับขอบคุณมาก

แต่อยากจะฟังจากต้นกำเนิดเมื่อ 2,600 ปี พระองค์บอกสาวกว่ายังไง

เพราะนี่คือหัวใจที่จะเดินไปสู่พระนิพพาน เพี้ยนไม่ได้

แล้วสังเกตดูการสาธยายของผมเนี่ย

กราฟิกทั้งหมดจะว่ากันเป็นคำๆ ไม่เคยตัดคำไหนเลย




แม้แต่ประโยคนี้ก็จะถูกแบ่งออกมา

ไม่มีการเพิ่ม ไม่มีการตัด สาธยายทุกคำ ไม่มีการรวบ

ไม่มีการใช้ความเข้าใจของตัวเองเข้าไปปน   เพราะท่านตรวจสอบได้นี่

ไม่ใช่มั้ง ท่านไม่ต้องเชื่อด้วย เพราะว่าผมว่ากันเป็นประโยคเลย

ตรงนี้ไม่ต้องเชื่อก็ได้

งั้นฟังด้วยเหตุด้วยผลโดยการโยนิโสนมสิการของตัวเอง

พิจารณาโดยแยบคายตามไปก็ได้นะ

แต่ถ้าเห็นว่า เออ! อืมๆ เราใจละ พระพุทธเจ้าหมายถึงอย่างนี้จริงๆ

อย่างเช่นคำว่า มีความเพียรเครื่องเผากิเลส




จากสัมมาวายามะ ท่านก็เห็นมาตลอด

พระองค์ก็บอกให้ เพียรละอกุศล เพียรละอกุศล เพียรละอกุศล

มีความเพียรเครื่องเผากิเลส

หลังจากนั้น กิเลสจะทำงานได้ยากขึ้น อกุศลจะเข้ามาปนน้อยลงมาก

ใครที่ปฏิบัติมาถึงวันนี้แล้วจริงๆ จังๆ ตั้งแต่... จะกี่ปีก็ตาม

จะเห็นเลยว่า  ขณะนี้เนี่ย อกุศลที่ถูกชำระไปเรื่อยๆ เนี่ย แทบจะไม่โผ่หัวเลย

ละกันจนหายหัวกันไปเลย

ส่วนกุศลก็ทำไม่หยุด แต่ไม่ได้เข้าไปยึดถืออะไร

ช่วยคน ช่วยเหลือผู้คนก็ช่วยไป

อกุศลหายไปเลย ใครมาด่า ใครมาว่า ก็ได้แต่อืม...ก็ ก็คงงั้นมั้ง เนอะ

ก็คงเอาไปปรับปรุง คือไม่เห็นจะโกรธอะไรเลย แล้วไม่รู้จะโกรธไปทำไม

แล้วจะลองโกรธดูบ้าง มันก็ไม่รู้หายไปไหน ก็หากันไม่ค่อยเจอ

เพราะฉะนั้นพอเพียรละ เพียรละ เพียรละ เพียรละ ไปเรื่อยๆ เนี่ย เริ่มหายล่ะ

จากนั้นเราจะมาดูอีกคำนึง




คำว่ามีสัมปชัญญะ มีสติ เนี่ย

เราจะคุ้นเคยกับคำว่ามีสติและสัมปชัญญะนะ

แต่เราไม่คุ้นเคยกับการที่เอาสัมปชัญญะมาไว้ข้างหน้า

เราคุ้นเคยกับกับคำนี้ (สติและสัมปชัญญะ  )

แล้วคำนี้มายังไงหรอ?

หากท่านกำลังเดินตักอาหาร นักปฏิบัติกำลังเดินตักอาหารอยู่ในไลน์ของอาหาร

ท่านเห็นอาหาร โอ้โห! วันนี้มีไข่เจียวเว้ย กำลังอยากทานพอดีเลย

ตอนนั้นท่านหลงแล้ว ท่านไม่มีสติแล้ว

เกิดความอยากพรวดขึ้นมาเลย ท่านหลงแล้ว

ถ้าเป็นนักปฏฺิบัติตัวจริงขณะที่กำลังหลงด้วยความไม่มีสติ

เกิดสติมาระลึก พลั้วะเข้ามา... เผลอแล้ว

หลังจากนั้นอาการเคลื่อนของท่านในการหยิบจาน หยิบถาด ตักอาหาร

จะกลับมามีสัมปชัญญะล่ะ

เมื่อเกิดสติจะเกิดสัมปชัญญะขึ้น อันนี้เป็นอาการปกติที่เรารู้จัก

หลายคนอาจจะรู้สึกว่า ไม่เห็นเหมือนอาจารย์บอกเลย

มะกี้ อยากกินไข่เจียวก็อยากกินเลยก็ตัก ก็กินอร่อยดี เรียบร้อยหมดเลยทั้งพวงเลย (หัวเราะ)

ไม่มีคราบนักปฏิบัติเลย มากินของเค้าเปล่าๆ เลยนะนั่น





ถ้าเปลี่ยนใหม่ มีสัมปชัญญะ มีสติ ล่ะ

ขณะที่ท่านนั่งสมาธิอยู่ มีอาการรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ ก็มีสัมปชัญญะอยู่

ขณะที่กำลังรู้ลมหายใจ มีสัมปชัญญะ จิตค่อยๆ สงบลง สงบลง

ขณะนั้นเห็นเวทนาเกิดขึ้นแล้วดับไป พลั้วะ !!

มีสติระลึกเข้ามาตอนนั้นพอดี เกิดปัญญารู้เลย

โอ้! เวทนานี่ไม่ใช่ตัวตนบุคคลเราเขา

มีสัมปชัญญะ มีสติระลึก เกิดปัญญาขึ้นมาเลยว่า

เวทนาทั้งหลายไม่ใช่ตัวตนบุคคลเราเขา

หลังจากนั้นก็จึงเกิดปัญญามากขึ้นอีก ที่เราได้ยินคำว่า

 "ถอนความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้"

ถอนอภิชฌาและโทมนัส

ถอดความยินดียินร้าย

คำเดียวกันทั้งนั้นน่ะ......ในโลก

พระพุทธเจ้าตรัสคำว่า โลก คือ  ร่างกายจิตใจของเรานี่แหล่ะ

คือขันธโลกนี้แหล่ะ





นี่แหละ โลก

ถอนความพอใจและความไม่พอใจก็คือ ความยึดในโลกเนี่ยออกเสียได้

นั่นคือ อุปาทานในขันธ์ 5 นี่แหล่ะ

จากปัญญาที่เข้าไปเห็น เห็นๆ เห็นๆ

เห็นว่ากายก็ไม่ใช่ของเรา

เวทนาก็ไม่ใช่ของเรา

จิตก็ไม่ใช่ของเรา

ธรรมารมณ์ก็ไม่ใช่ของเรา

ล้วนเป็นของเกิดๆ ดับๆ  มันจะถอนความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้

มันจะนำพาไปสู่สัมมาทิฏฐิ

รู้อะไรคือทุกข์ อะไรคือเหตุให้เกิดทุกข์ ในชั้นที่ขยับขึ้นไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ เรื่อยๆ

โดยอาศัยฐานทั้ง 4 นี้แหล่ะเป็นตัวที่ตั้งแห่ง แห่งการเข้าไปเรียนรู้เข้าไปศึกษานะ

เอาล่ะ นี้ก็สาธยายละเอียดยิบเลยแล้ว

กลับมาที่มรรคองค์ที่ ๘ นะครับ มาดูมรรคองค์ที่ ๘ กันต่อ



(องค์มรรคที่ 8)
  
กะตะโม จะ ภิกขะเว สัมมาสะมาธิ, 
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย, ความตั้งใจมั่นชอบ เป็นอย่างไรเล่า
อิธะภิกขะเว ภิกขุ, 
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย, ภิกษุในธรรมวินัยนี้, 
วิวิจเจวะ กาเมหิ, 
สงัดแล้วจากกามทั้งหลาย, 
วิวิจจะ อะกุสะเลหิ ธัมเมหิ, 
สงัดแล้วจากธรรมที่เป็นอกุศลทั้งหลาย, 
สะวิตักกัง สะวิจารัง, วิเวกะชัง ปิติสุขัง ปะฐะมัง ฌานัง อุปะสัมปัชชะ วิหะระติ, 
เข้าถึงปฐมฌาน, ประกอบด้วยวิตกวิจาร, มีปีติและสุข อันเกิดจากวิเวก แล้วแลอยู่, 
วิตักกะวิจารานัง วูปะสะมา,
เพราะความที่วิตกวิจารทั้งสองระงับลง, 
อัชฌัตตัง สัมปะสาทะนัง เจตะโส, เอโกทิภาวัง, อะวิตักกัง อะวิจารัง, 
สะมาธิชัง ทุติยัง ฌานัง อุปะสัมปัชชะ วิหะระติ, 
เข้าถึงทุติยฌาน, เป็นเครื่องผ่องใสแห่งใจในภายใน, ให้สมาธิเป็นธรรมอันเอกผุดมีขึ้น, 
ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร, มีแต่ปีติและสุข อันเกิดจากสมาธิแล้วแลอยู่, 
ปิติยา จะ วิราคา,
อนึ่ง, เพราะความจางคลายไปแห่งปีติ,
 อุเปกขะโก จะ วิหะระติ, สะโต จะ สัมปะชาโน,
เป็นผู้อยู่อุเบกขา, มีสติและสัมปชัญญะ, 
สุขัญจะ กาเยนะ ปะฏิสังเวเทติ,
และย่อมเสวยความสุขด้วยนามกาย, 
ยันตัง อะริยา อาจิกขันติ, อุเปกขะโก สะติมา สุขะวิหารี ติ, 
ชนิดที่พระอริยะเจ้าทั้งหลาย ย่อมกล่าวสรรเสริญผู้นั้นว่า, เป็นผู้อยู่อุเบกขา 
มีสติ อยู่เป็นปกติสุข ดังนี้, 
ตะติยัง ฌานัง อุปะสัมปัชชะ วิหะระติ,
เข้าถึงตติยาฌาน แล้วแลอยู่,
สุขัสสะ จะ ปะหานา, 
เพราะละสุขเสียได้, 
ทุกขัสสะ จะ ปะหานา, 
และเพราะละทุกข์เสียได้, 
ปุพเพวะ โสมะนัสสะโทมะนัสสานัง อัตถังคะมา, 
เพราะความดับไปแห่งโสมนัสและโทมนัสทั้งสอง ในกาลก่อน
อะทุกขะมะสุขัง อุเปกขาสะติปาริสุทธิง, จะตุตถัง ฌานัง อุปะสัมปัชชะ วิหะระติ, 
เข้าถึงจตุตถฌาน, ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข, มีแต่ความที่สติเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา
แล้วแลอยู่  
อะยัง วุจจะติ ภิกขะเว สัมมาสะมาธิ. 
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย, อันนี้เรากล่าวว่า ความตั้งใจมั่นชอบ




เอาล่ะ เรามาเริ่มต้นดูกันเป็นหน้าๆ ไป จะได้ทำความเข้าใจไปเรื่อยๆ

สัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่นชอบ

ในปฐมฌาน ท่านบอกว่า สงัดแล้วจากกามทั้งหลาย

สงัดแล้วจามธรรมอันเป็นอกุศลทั้งหลาย จิตจะเข้าสู่ปฐมฌาน

แล้วก็บอกว่า อาการของปฐมฌานมีอะไร ก็คือ มีวิตกวิจาร มีปีติและสุข

ก่อนที่จะเข้าปฐมฌาน สงัดแล้วจากกาม แสดงว่าเครื่องรบกวนจิตไม่มี

ทำไมถึงสงัดจากกาม เพราะ ตั้งแต่มรรคองค์ที่ ๒ เราเนกขัมมะมาไม่ใช่หรอ?

เนกขัมมะออกจากกาม




























เพราะฉะนั้นเมื่อเนกขัมมะออกจากกามไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ เรื่อยๆ

มาถึงจุดๆ นี้เนี่ยะ สงัดจากกาม

เมื่อกามไม่รบกวน ไอ้ที่ติดละคร ติดรสชาติอาหาร

ติดอะไรต่ออะไรเยอะแยะเนี่ย มันก็หายไป

เมื่อหายไป จิตใจก็ตั้งมั่น

สงัดแล้วจากธรรมอันอกุศล... สัมมาวายามะเมื่อกี้ละอกุศลหรือเปล่า?...ละ

ละไปเรื่อย ละไปเรื่อย ละไปเรื่อย ละไปเรื่อย ละไปเรื่อย จนเบาบาง

พอถึงจุดนี้ สัมมาสมาธิสบายเลย ทำงานสบายเลย

เพราะมรรคองค์ที่ ๒ จัดการไปให้ส่วนนึง

มรรคองค์ที่ ๖ ก็จัดการไปส่วนนึง

มรรคองค์ที่ ๓ ๔ ๕ ในศีลจัดการมาให้แล้ว เป็นบาทเป็นฐานมาให้แล้ว

จิตตั้งมั่นแข็งแรงแล้ว

ใครปฏิบัติตามมรรคตามพระพุทธเจ้ามาจริงๆ เนี่ย

ถึงตรงนี้เนี่ย ไม่ต้องทำอะไรมาก นั่งหลับตาก็เข้าเลย

หลับตาก็เข้าเลย คุณไม่ต้องมีความพยายาม โอ๋ ฮึด... ไม่ต้องไปฮื้ดดดด

นั่งเนี่ยเข้าเลย  จะไปถึงฌานไหนก็แล้วแต่เค้าล่ะ

หลับตาก็สงบเลย ไม่ได้มีอะไรเลย

เพราะฉะนั้นวันนี้ พวกเราไม่ฟังพระพุทธเจ้า

 แล้วต่อให้ฟังแล้วเราก็ไม่ทำตามท่าน แล้วเราก็มีเหตุผลสารพัดที่จะไม่ทำ

ก็ไม่เป็นไร ผมก็ไม่ได้ว่าอะไร ผมไม่ได้มาสาธยายเพื่อให้ทุกคนต้องทำ

ผมแค่มาสาธยายให้ทุกคนเข้าใจ

ใครจะทำหรือไม่ทำ  ก็จบหน้าที่ของพระองค์ ก็จบหน้าที่ของผม

ก็ใครทำก็ทำ ก็เข้าใจแล้วก็ไปทำ

แต่ถ้าเข้าใจแล้วไม่ทำ ฉันจะไม่ทำ  มีอะไรมั้ย ก็ไม่มีอะไรเลย ไม่มีอะไรเลย ก็อยู่ต่อไป

เพราะปัญญาการตรัสรู้ของท่าน ท่านก็ทิ้งไว้ให้แล้ว นี่ 2,600 ปีแล้ว

จึงควรจะหมดไปตั้งนานแล้ว แต่นี่ก็ยังอยู่

ก็ยังโชคดีที่ยังมานั่งสาธยายกันอยู่ได้ ยังมีคนฟัง แล้วก็ยังมีคนสนใจนะ

ถ้าท่านสนใจแน่ เมื่อกี้ที่ผมพูดอาจจะไม่ได้พูดกับท่านโดยตรง

เพราะเดี๋ยวสื่อ  DVD  นี้มันออกกระจายกันทั่วไปหมดทั้งใน YouTube ในอะไร

คนที่ฟังอาจจะไม่ได้สนใจเลย แต่แค่จะเข้ามาศึกษา

แต่เค้าไม่ได้สนใจจะปฏิบัติ ถ้าไม่ปฏิบัติก็ไม่หลุดพ้น ก็ไม่พ้นทุกข์

แล้วจะเอาที่ไหนมายืนยันว่ามรรคของท่านปฏิบัติแล้วหลุดพ้น

ก็ในเมื่อ ถ้าหลุดพ้นมันหลุดพ้นที่ตัวเองน่ะ แล้วตัวเองไม่ปฏิบัติแล้วจะเอาที่ไหนมายืนยังล่ะ

แต่พวกเราเข้ามาอยู่ที่ตรงนี้แล้วแสดงว่าอย่างน้อยเราสนใจ

เราอยากจะพ้นทุกข์จริงๆ เราอยากจะรู้ว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร

พวกเราจึงเขามาศึกษาแล้วก็เดินตาม

ทีนี้พอจิตเข้าสู่ปฐมฌาน วิธีสังเกตที่พระพุทธเจ้าให้ไว้ก็คือ ยังมีวิตกวิจาร

อะไรวิตกวิจาร ?

เอาว่าวิตกเนี่ย อย่าไปคิดถึงการวิตกกังวลของเรา มันคนละตัวกัน

เพราะวิตกในบาลีก็คือ ตริตรึก ก็ตรึกไปที่ลมหายใจ

สมมุติว่าใครใช้อานาปานสติเป็นเครื่องอยู่ ก็ตรึกไปที่ลมหายใจออกลมหายใจเข้า

นี่คือยังมีวิตกอยู่

ส่วนวิจารคือการตรอง ก็คือเห็นอาการ เห็นลักษณะของลมหายใจไป

และอีกส่วนนึงในปฐมฌานที่จะเป็นข้อสังเกตก็คือ ปิติ

หลายคนก็เกิดขนลุกขนพอง น้ำหูน้ำตาไหล นะ ตัวโยกตัวโคลง

ก็เป็นอาการของปีติ ....  เกิดความสุข

เมื่อกี้เราดูปฐมฌาน จากนั้นเมื่อวิตกวิจาร ทั้ง 2 ระงับลง

เข้าสู่ทุติยฌาน คือฌานที่ 2 ก็แสดงว่า วิตกวิจารระงับไปในฌานที่ 2














































การดำริตริตรึกอยู่ในลมหายใจก็ค่อยๆ จางไป เหลือแต่ปีติกับสุข นะ

ในฌานที่ 2 ก็จะเหลือแต่ปีติกับสุข

จิตไม่ไปดำริตริตรึกถึงลมแล้ว เพราะว่าไม่ได้ไปสนใจแล้ว

ถึงตอนนี้ถ้าใครนั่งสมาธิก็ค่อยๆ สงบขึ้น สงบขึ้น สงบขึ้น เสียงก็จะค่อยๆ เงียบไป

เพราะความที่วิตกวิจารทั้ง 2 ระงับลง ก็เข้าสู่ฌานที่ 2

แล้วก็พอเข้าสู่ฌานที่ 3 เพราะความจางคลายไปแห่งปีติ ปีติก็ดับไปอีก

ทีนี้เหลือแต่ความสุข.....

เหลือแต่ความสุข เข้าสู่ฌานที่ 3 ปีติก็ดับไป



























































เหลือแต่ความสุข

ท่านก็บอกว่า ในฌานนี้เนี่ยย่อมเสวยความสุขด้วยนามกาย

หมายถึงอะไร? คำว่า นามกาย

อันนี้ผมต้องย้อนกลับไปถึงสื่อที่เราพูดถึงอานาปานสติในวันแรก

ที่เค้าตั้งตัวเลข 1,500 ลบ  14 แล้วก็มีความเครียดในระหว่างที่กำลังคิดเลข กายทำงานหนักขึ้น

จากนั้นหมอก็ให้รู้ลมหายใจ

เมื่อใจสงบ การวัดผลที่กาย กลับสงบกันหมดนะ

อันนี้ผมก็เคยทดลองจริง ผมก็ทดลองในระหว่างที่

มีครั้งนึงที่ผมไปตรวจร่างกาย ไม่ใช่ครั้งที่ผมเล่าให้ฟังที่ผมเอามือไปแปะ...ไม่ใช่

ครั้งนั้น ง่ายๆ กว่า เป็นกลไกง่ายๆ

หมอจะให้ผมขึ้นไปตรวจด้วยการวิ่ง stress test จะดูของหัวใจ เรื่องของอะไร

ระหว่างที่เค้าแปะเครื่องมือเอาไว้เต็มหมดแล้ว

พยาบาลก็บอกผมว่า พอดีหมอยังไม่ว่างซักระยะนึง

ผมก็ว่าบอก อ่า! ไม่เป็นไรหรอก ไปเถอะ ไปทำงานของคุณเถอะ

ผมก็นั่งดูไอ้จอเนี่ย ค่อยๆ ดูว่าตัวเลขมันคืออะไร

อ๋อ! ตัวนี้นี่ การเต้นของหัวใจ อะไรต่อมิอะไร ก็ดูๆ ไม่ได้เก่งอะไรหรอก เพราะไม่รู้จัก

แต่เห็นอันนึงอ่ะ การเต้นของหัวใจ

ผมเห็นมันเต้นอยู่ประมาณ 72 ต่อนาที

ผมก็เลยแวบนึกถึงสื่อที่เราเปิดดูกันว่า เอ่อ ถ้าอยู่กับลมหายใจ กายไม่ลำบาก

ตอนนี้ก็มีเครื่องวัดแล้ว ผมก็เลยลองดู

จากนั้นผมก็ค่อยๆ กลับมารู้ลม ตาก็มองไปเรื่อยๆ

มันก็ลดลงไปเรื่อยๆ เหลือ 71 70 69 68 แล้วก็หยุดอยู่ที่ 68 ไม่ลงไปกว่านี้

ผมก็เลยอยากจะรู้ว่า มันจะลงต่อได้อีกมั้ยเนี่ย

แต่ในระดับแค่ความรู้สึก สมมติว่าตรงนี้คือปฐมฌานมันได้แค่นี้ ได้ 68

ก็เลยมีความคิดว่า ถ้าเราเข้าไปฌานที่ลึกๆ กว่านี้เนี่ย กายจะทำงานน้อยลงอีกมั้ย

ผมก็เลยอาศัยจังหวะนั้นที่ไม่มีหมอ ไม่มีพยาบาล นั่งสมาธิเลย

นั่งไปพักนึง แล้วก็ลืมตา เพราะว่าเดี๋ยวผลมันเปลี่ยน

ลืมตาเลย เพราะว่าผมอยากจะดูว่าตอนนี้ตัวเลขมันอยู่ที่เท่าไหร่

พอเห็นว่าตัวเองก็เข้าไปสงบพอสมควร ก็ลืมตาพลั้วะ!  ลงมาเหลือ 65 ละ

แสดงว่ามันก็ลงมาเรื่อยๆ จนกระทั่วถึงจุดๆ นึง

ถ้าลงมาถึงจุดๆ นึงเนี่ย ตอนนั้น โมเลกุลทั้งหลายของรูปนามเนี่ย

จะเริ่มเกิดเป็นความผ่อนคลายสุดๆ

ตรงนี้ที่พระพุทธเจ้าใช้คำว่า ผู้นั้นจะเสวยความสุขด้วยนามกาย

คือทุกโมเลกุลของทุกอณูในร่างกายเนี่ยจะเต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข

ผมเคยพูดเอาไว้ว่า โมเลกุล จะรีเฟรชตัวเองขึ้นมาใหม่

จากความสุขที่เกิดขึ้นอย่างดื่มด่ำในสมาธิ นะ

แล้ววันนั้น  ก็ที่เล่าให้ฟัง  ก็เกิดไปมีผลที่สามารถเห็นได้ในเชิงลึกเข้าไปอีก

ถึงระบบการทำงานของร่างกาย ก็เป็นไปอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสจริงๆ

ย่อมเป็นผู้เสวยสุขด้วยนามกาย

ย่อมเป็นผู้อยู่อุเบกขา

มีสติและสัมปชัญญะ นะ

พระองค์ตรัสอะไรไว้เนี่ย ไม่เคยผิด

ท่านไม่ต้องมีเครื่องวัดเลย 2,600 ปีที่แล้วอ่ะ ที่เรากำลังสวดอยู่นี่







เอาล่ะ มาจนถึงฌานที่ 4 นะครับ

เพราะความดับไปแห่งโสมนัสและโทมนัสทั้ง 2 ในกาลก่อน

ทีนี้ในฌานที่ผ่านมา ฌานที่ 3 มีความสุขเหลืออยู่ตัวนึง

ท่านก็บอกว่า เมื่อความสุขความทุกข์ทั้งหลายทั้ง 2 ดับไป เข้าถึงฌานที่ 4 แล้ว

 อันนี้ฌานที่ 4 นะ ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข

คำว่า ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข ก็เป็นกลางๆ ละ มีแต่ความที่สติเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์ เพราะอุเบกขา

ซึ่งตรงนี้ในฌานที่ 4 เนี่ย ถ้าใครเข้าไปสัมผัสก็จะ ตอนนั้นมันจะเงียบไปหมดเลย 

บางท่านก็รู้สึกถึงการที่ไม่มีลมหายใจเหลืออยู่ ไม่มีลมแล้ว

รู้สึกเหมือนตัวเองไม่ได้หายใจด้วยซ้ำ เงียบเลย

สภาพตอนนั้นจะไม่มีตัวตนชั่วคราว 

ถ้าจะใช้คำว่า ปราณีต ละเอียดปราณีตก็คงต้องใช้คำว่า ละเอียดปราณีตมากๆ เลย 

จิตก็จะทรงฌานอยู่อย่างนั้น ชั่วระยะนึง ก็แล้วแต่บุคคล

จะเข้าไปสัมผัสธรรมชาติบริสุทธิ์ หลังจากนั้นเมื่อออกจากฌาน 

อำนาจของฌาน 4 ก็ยังตามคุ้มครองจิตอยู่พักนึง จะรู้สึกถึงความสงบเย็น ก็แล้วแต่

บางคนก็เป็นชั่วโมง บางคนก็เป็นสัปดาห์ ก็ว่ากันไป

งั้นการที่ท่านเข้ามาฝึก จิตก็จะได้รับการพักผ่อน กายก็ได้รับการพักผ่อน 

ทุกอย่างก็ได้รับการพักผ่อน จากนั้นก็จะค่อยๆ ตั้งมั่นแล้วก็เห็นความจริงมากขึ้นๆ 

ในสัมมาสติที่ผ่านมาอย่างที่เห็น

เพราะฉะนั้น มรรคองค์ที่ ๖ ๗ ๘ เนี่ย เป็นกลุ่มที่เรียกว่า สมาธิ

ในส่วนนี้จะเข้าไปจัดการในระดับจิตทั้งหมดเลย 

ตั้งแต่ละอกุศล เจริญกุศล จนกระทั่งเกิดเป็นสมาธิ มีความตั้งมั่น 

เกิดเป็นการไปเห็นฐานต่างๆ กาย เวทนา จิต ธรรม ซึ่งจะสอดรับรวมกันหมด 

จนกระทั่งชำระอกุศลในใจลงไปได้อย่างเบาบาง

จนจะย้อนกลับไปสู่สัมมาทิฏฐิอีกครั้งนึง 

เริ่มรู้ความจริงว่าอะไรคือทุกข์ อะไรคือเหตุให้เกิดทุกข์ โดยลำดับๆ ขึ้น

จะเห็นว่า มรรคทั้ง 8 องค์ทำงานสอดรับกันหมด สอดรับกันทั้งหมด 

ก็จบการสาธยาย มรรคมีองค์ ๘ แบบเป็นข้อๆ 

ในคืนนี้เราจะมาดูการวิเคราะห์ประมวลมรรคทั้ง 8 องค์ว่า 

ทั้ง 8 องค์เมื่อเข้ามารวมกัน หรือเข้ามาทำงานสอดรับกัน 

จะเปลี่ยนคนธรรมดาเป็นพระอรหันต์ได้ยังไง?

นี่คือเรื่องใหญ่เลย แล้วก็ไปเชื่อมโยงกับอริยสัจ 4 ยังไง

เอาล่ะ สำหรับวันนี้ก็น่าจะเพียงพอนะครับ มรรคทั้ง 8 องค์ 

เราจะจบด้วยคำของพระพุทธเจ้า

                       

[เสียงจากคลิป]

องค์แห่งความเป็นพระอเสขะและพระเสขะ
ภิกษุ ท.! ในบริกขารแห่งอริยสัมมาสมาธินั้น, สัมมาทิฏฐิ ย่อมเป็นองค์นำหน้า
ภิกษุ ท.! สัมมาทิฏฐิ เป็นองค์นำหน้า อย่างไรเล่า ?
ภิกษุ ท.! เมื่อมีสัมมาทิฏฐิอยู่, สัมมาสังกัปปะ ย่อมมีเพียงพอ. เมื่อมีสัมมาสังกัปปะอยู่, สัมมาวาจา ย่อมมีเพียงพอ. เมื่อมีสัมมาวาจาอยู่, สัมมากัมมันตะ ย่อมมีเพียงพอ. เมื่อมีสัมมากัมมันตะอยู่, สัมมาอาชีวะ ย่อมมีเพียงพอ. เมื่อมีสัมมาอาชีวะอยู่, สัมมาวายามะ ย่อมมีเพียงพอ. เมื่อมีสัมมาวายามะอยู่, สัมมาสติ ย่อมมีเพียงพอ. เมื่อมีสัมมาสติอยู่, สัมมาสมาธิ ย่อมมีเพียงพอ. เมื่อมีสัมมาสมาธิอยู่, สัมมาญาณ ย่อมมีเพียงพอ. เมื่อมีสัมมาญาณอยู่, สัมมาวิมุตติ ย่อมมีเพียงพอ.
ภิกษุ ท.! ด้วยเหตุนี้แล, ภิกษุผู้ประกอบพร้อมแล้วด้วยองค์ทั้ง ๘ ชื่อว่า เป็น พระเสขะ; และผู้ประกอบพร้อมแล้ว ด้วย องค์ทั้ง ๑๐ (คือเพิ่มสัมมาญาณ และสัมมาวิมุตติ อีก ๒ องค์) ชื่อว่า เป็น พระอรหันต์ (พระอเสขะ) แล.
[จบ เสียงจากคลิป]

งั้นที่เราปฏิบัติตามมรรค ตั้งแต่สัมมาทิฏฐิจนถึงสัมมาสมาธิ

ก็อยู่ในระดับของ เสขบุคคล นะครับ

เสขะบุคคล หมายความว่าบุคคลที่ยังต้องการศึกษาเรียนรู้ ยังต้องท่องโลก

ศึกษาเรียนรู้เพื่อให้เห็นความจริง จนกระทั่งเกิดสัมมาทิฏฐิอย่างเพียงพอจริงๆ นะ

ก็จะเกิดสัมมาญาณะเป็นผล โดยมีสัมมาทิฏฐิเป็นเหตุ

จะเกิดปัญญาที่แท้จริง ไม่ใช่สัมมาทิฏฐิที่ยังมีผู้เข้าไปเกิดสัมมาทิฏฐิ

วันนี้ถ้าเราเคยเข้าใจผิดว่าโลกใบนี้แบน จนมาเข้าใจว่าโลกใบนี้กลม ใครเป็นคนเข้าใจ?

มีเราเข้าไปเข้าใจ ยังมีเราไปเกิดสัมมาทิฏฐิ

แต่เมื่อเห็นความจริงตลอดทางจากการฟอกแล้วฟอกอีก

ในวันนึงในรอยต่อครั้งสำคัญ สัมมาทิฏฐิที่เกิดขึ้นจะไม่มีผู้เกิดสัมมาทิฏฐิแล้ว

แต่จะสลายผู้ที่เป็นสัมมาทิฏฐิไปเกิดสัมมาญาณะแทน

เป็นปัญญาที่แท้จริง ไม่มีผู้เข้าไปยึดถือปัญญานั้นอีก

จึงเข้าสู่สัมมาวิมุตติที่การหลุดพ้นเข้าถึงพระนิพพานหรือความเป็นพระอรหันต์อย่างแท้จริง

สลายความเป็นตัวตน อุปาทานขันธ์ทั้ง 5 โดยหมดสิ้น

ตรงนั้นแหล่ะที่เรียกว่า อเสขบุคคล

บุคคลที่จบการศึกษาเรียนรู้แล้ว เข้าถึงความเป็นพระอรหันต์แล้ว

ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว

ศึกษาทางโลก ศึกษาจนตายก็ไม่จบ

แต่ถ้าปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ ศึกษาทางธรรมมีวันจบที่ตรงนี้

จบที่  อเสขบุคคล แล้วก็หลุดพ้นเลย

แล้วก็เข้าถึงสิ่งที่พระอานนท์บอกว่า ถึงเข้าใจคำของพระศาสดาว่า มันไม่มีอะไรเหมือนเลย

ทุกวันนี้ ทุกข์ไม่มีอะไรเหมือน

แต่ตรงนั้น... นิพพานัง ปรมัง สุขัง.....

นะ กราบพระ แล้วก็ค่อยฟังกันต่อคืนนี้ คืนนี้ท่านสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตรก็แล้วกัน


จบการบรรยายตอนที่ 7
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
☜ ตอนที่ 6 อริยมรรคมีองค์ 8 (องค์ 1-5)                  ตอนที่ 8 อริยมรรคเชื่อมโยงอริยสัจ 


กราบอนุโมทนาบุญกับผู้บรรยาย ทีมงาน และผู้เข้าร่วมอบรมทุกท่านค่ะ

- ด้วยจิตคารวะ -

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น